|
อย่าละเลยอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง! แม้บางกรณีไม่อันตราย แต่บางกรณีอาจเป็นสัญญาณอันตรายของบางโรคได้ โดยเฉพาะโรคหัวใจ ที่มีความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อน
ใจสั่นแบบไหนต้องระวัง?
อาการ “ใจสั่น” ไม่ว่าจะมีลักษณะการเต้นผิดจังหวะ เต้นเบาเกินไป เต้นแรงเกินไป หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ เต้นสะดุด หรือมีความรู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก เจ็บแปลบๆ รู้สึกหวิวๆ อาการใจสั่นแบบนี้ดูเผินๆ อาจรู้สึกว่าเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ปกติและไม่นานก็จะหายไปเอง
แต่ถ้าพบว่าอาการใจสั่นเกิดขึ้นบ่อยๆ หรือมีอาการรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจ ซึ่งอันตรายถึงชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน1,2
9 สาเหตุอาการใจสั่น รู้ให้ทัน ป้องกันได้!
อาการใจสั่นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งบางสาเหตุอาจส่งผลให้ใจสั่นเพียงแค่ชั่วคราว แต่บางสาเหตุอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ โดยสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ใจสั่นมีดังนี้
1. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
สาเหตุแรกที่อาจมีความรุนแรงและมีภาวะแทรกซ้อนได้คือ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) หรือเกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ทำให้ใจสั่นได้ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคห้องหัวใจหนา โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายและโรคหัวใจโต3,4,5
2. อาการแพนิค ความเครียด ความวิตกกังวล
อาการใจสั่น นอนไม่หลับ อาจเกิดจากอาการแพนิค เมื่อเจอสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกตื่นตระหนก ตกใจ หรือเกิดจากสภาพจิตใจที่มีความเครียดสะสม มีความวิตกกังวล ทำให้ร่างกายหลั่งสารอะดรีนาลีนและคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งมีผลกับความดันโลหิตในร่างกายและการเต้นของหัวใจ อาจทำให้เกิดอาการใจสั่น มือสั่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก หายใจติดขัด หรือเจ็บหน้าอกคล้ายโรคหัวใจ1
3. โรคไทรอยด์เป็นพิษ
โรคไทรอยด์เป็นพิษจากการทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ที่มากเกินความจำเป็น ฮอร์โมนนี้จึงไปกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ส่งผลให้มีอาการใจสั่น มือสั่น หัวใจเต้นเร็วเกินไป1,3
4. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
ยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงทำให้ใจสั่นได้ เช่น ยารักษาโรคหอบหืดที่มีส่วนประกอบของสารกระตุ้นซาลบูทามอล (Salbutamol) ยาปฏิชีวนะ คลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) และยาแก้แพ้ เทอร์เฟนาดีน (Terfenadine)1 เป็นต้น
5. ภาวะร่างกายขาดน้ำ
ในขณะที่ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำปริมาณน้ำในเลือดจะน้อยกว่าปกติ เลือดมีความข้น ระบบไหลเวียนของเหลวในร่างกายผิดปกติ ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ไต สมอง ระบบทางเดินอาหาร กล้ามเนื้อ ไม่สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสม ทำให้มีอาการใจสั่น ปากแห้ง ตาแห้ง ปวดศีรษะ หรือท้องผูกได้นั่นเอง1
6. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
เมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำทำให้มีอาการใจสั่น มือสั่น ตาพร่ามัว หน้ามืด ภาวะนี้มักเกิดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน คนที่อดอาหาร และคนที่ดื่มแอลกอฮอล์มากๆ1
7. เป็นไข้ ไม่สบาย
เมื่อร่างกายมีการติดเชื้อ เป็นไข้ ไม่สบาย ร่างกายจะใช้พลังงานสูงมากกว่าปกติเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ ทำให้หัวใจต้องสูบฉีดเลือดแรงและเร็วขึ้น จึงมีอาการใจสั่นเกิดขึ้นได้1
8. ดื่มคาเฟอีนมากเกินไป
คาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นการเต้นของหัวใจ ทำให้ร่างกายกระฉับกระเฉง ตื่นตัว หากดื่มกาแฟ ชา เครื่องดื่มชูกำลัง หรืออาหารอื่นๆ ที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนมากเกินไปอาจทำให้ใจสั่นได้1,3
9. ออกกำลังกายหนักเกินไป
การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ แต่ถ้าหากออกกำลังกายจนหนักเกินไปจะทำให้หัวใจทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อต่างๆ เกิดอาการหัวใจเต้นเร็วเต้นแรงมากขึ้น ถ้ามากเกินไปอาจทำให้ใจสั่นได้ และนอกจากอาการใจสั่นแล้วยังสามารถพบอาการเหนื่อยง่าย ไม่มีแรง ขาบวม หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ซึ่งคนที่มีอาการเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ จึงควรรีบเข้ารับการตรวจสุขภาพด้วย1
อาการใจสั่น ป้องกันก่อน ปลอดภัยก่อน
ถึงแม้ว่าอาการใจสั่นส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นอันตราย แต่การป้องกันตัวเองเพื่อแก้อาการใจสั่นในเบื้องต้นย่อมดีกว่าปล่อยเอาไว้ให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อความปลอดภัยควรดูแลสุขภาพของตัวเองให้ห่างไกลอาการใจสั่น ดังนี้
กินอาหารที่มีประโยชน์
การเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้ครบทั้ง 5 หมู่เป็นประจำทุกวันสามารถป้องกันอาการใจสั่นได้ โดยเน้นอาหารประเภทผัก ผลไม้ ธัญพืช อาหารไขมันต่ำ นอกจากนี้ อาหารที่มีสารอาหารประเภทกรดไขมันกลุ่มโอเมกา 3 จากน้ำมันปลา มีส่วนช่วยให้การทำงานระบบต่างๆ ในร่างกายสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น สมอง หัวใจ หลอดเลือด และดวงตา7,8,9
สารอัลลิซิน (Allicin) ในกระเทียม ก็มีคุณประโยชน์ในการช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด ลดความดันโลหิต จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเส้นเลือดอุดตันที่อาจเป็นสาเหตุทำให้ใจสั่นได้ สารโคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10) หรือ CoQ10 ที่พบได้ในส้มก็ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดได้เช่นกัน เพราะช่วยสร้างพลังงานให้แก่เซลล์ มักพบมากในอวัยวะที่ใช้พลังงานมาก เช่น หัวใจ ปอด ไต และตับ10,11
ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด อาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรส โซเดียม สารไนเตรต และอาหารที่มีไขมันทรานส์สูง อีกทั้งควรเลี่ยงการดื่มคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ที่ส่งผลเสียต่อการทำงานของหัวใจ กระตุ้นการเต้นของหัวใจจนทำให้ใจสั่นรุนแรงขึ้น2,7,8
การนอนที่เพียงพอ
ควรนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 - 8 ชั่วโมงต่อวัน อีกทั้งยังควรหลีกเลี่ยงการนอนตะแคง เนื่องจากอาจทำให้ไปเพิ่มความดันโลหิตในร่างกายจนทำให้เกิดอาการใจสั่นได้2,7
การออกกำลังกายที่เหมาะสม
การออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ไม่หักโหมจนเกินไป จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของหัวใจ และทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดทำงานได้ดีตามปกติ นอกจากนี้ การเลือกการออกกำลังกายที่ช่วยลดระดับความเครียดลงได้ด้วย เช่น โยคะ และไทเก๊ก จะมีส่วนช่วยฝึกหายใจทำให้จิตใจสงบ ซึ่งเป็นอีกวิธีแก้อาการใจสั่นได้ดีเลย6,8
ทำกิจกรรมกำจัดความเครียด
หมั่นจัดการกับความเครียดโดยเน้นทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายตามความชอบของตัวเอง ไม่วิตกกังวลเรื่องต่างๆ มากจนเกินไป อีกทั้งการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและการนั่งสมาธิก็สามารถช่วยกำจัดความเครียดและฝึกการควบคุมจิตใจได้ จึงเป็นอีกวิธีแก้อาการใจสั่นนอนไม่หลับได้2,7
สรุป
อาการใจสั่นสามารถเกิดขึ้นได้ แต่หากเกิดขึ้นบ่อยๆ และรุนแรงควรต้องเฝ้าระวังและหมั่นสังเกตอาการให้ดี สาเหตุของอาการใจสั่นมีหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความเครียด ความวิตกกังวล อาการแพนิค โรคไทรอยด์เป็นพิษ ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด ภาวะร่างกายขาดน้ำ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นไข้ ไม่สบาย ดื่มคาเฟอีนมากเกินไป หรือออกกำลังกายหนักเกินไป ซึ่งผู้ที่กำลังประสบปัญหาสามารถป้องกันอาการใจสั่นและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้ โดยควรเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ดีต่อสุขภาพ นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างเหมาะสม รวมถึงทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลต่างๆ