ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรที่มีการใช้งานมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีต นิยมใช้ปรุงอาหารเพื่อแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ และในทางการแพทย์ มีสรรพคุณในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการอักเสบ และลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
ขมิ้นชัน เป็นพืชที่มีลักษณะเป็นเหง้าใต้ดิน มีแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศแถบเขตร้อน แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และในแอฟริกาบางส่วน ปลูกมากที่สุดในอินเดีย ประเทศไทยเองก็เป็นแหล่งปลูกขมิ้นชันเช่นกัน
โดยเฉพาะในภาคใต้ มีการใช้ประโยชน์จากขมิ้นชันหลายอย่าง ทั้งการนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหาร เนื่องจากมีสีเหลืองสวยงามและยังมีกลิ่นหอมและรสชาติที่มีเอกลักษณ์ นอกจากนั้นขมิ้นชันยังเป็นสมุนไพรประจำบ้าน ที่ใช้รักษาอาการต่างๆ ได้ เป็นสมุนไพรที่ใช้มายาวนานตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน
สรรพคุณโดดเด่นของขมิ้นชันที่หลายคนพอทราบอยู่บ้าง คือ การใช้เป็นยารักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม ต่อมาได้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม พบว่าขมิ้นชันนั้นมีสรรพคุณที่มากไปกว่านั้น เพราะขมิ้นชันมีคุณประโยชน์ที่ช่วยรักษาอาการต่างๆ ได้หลายประการ โดยเฉพาะอาการที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง เบาหวาน ไขข้อเสื่อม
ซึ่งสรรพคุณเบื้องต้นและวิธีการใช้ขมิ้นชันเพื่อการรักษาอาการผิดปกติของร่างกาย มีดังนี้
คุณสมบัติกับสรรพคุณของขมิ้นชัน1
ขมิ้นชันมีสารประกอบทางเคมีที่สำคัญอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ สารกลุ่มเคอร์คิวมินนอยด์ (Curcuminoids) ได้แก่ Curcumin, monodesmethoxycurcumin และ bisdesmethoxycurcumin และกลุ่มที่ 2 คือน้ำมันระเหยง่าย (Volatile oil) มีสีเหลืองอ่อน มีสารสำคัญ คือ Monoterpenoids และ Sesquiterpenoids ที่เป็นส่วนประกอบของยารักษาอาการหลายชนิด ทั้งนี้ สรรพคุณการรักษาของขมิ้นชันมีหลายประการ2 ได้แก่
เสริมภูมิคุ้มกัน
เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ด้วยสารเคอร์คิวมิน (Curcumin) ในขมิ้นชัน มีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันผ่านแอนติบอดี้ให้สามารถต่อสู้กับแอนติเจนที่อาจเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางผิวหนัง การหายใจ และระบบทางเดินอาหาร
ลดไข้ ต้านไวรัส
ขมิ้นชันช่วยป้องกันและยับยั้งไวรัสเข้าสู่ร่างกาย ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ในระบบหายใจและผิวหนัง ลดการคัดจมูก และผดผื่นแบบไม่รุนแรงได้ ทั้งยังสามารถลดไข้ได้ด้วย
ต้านการอักเสบ ลดปวดไขข้อ
สรรพคุณของสารเคอร์คิวมินในขมิ้นชันช่วยลดการอักเสบและสารเคอร์คิวมินอย ช่วยลดการเจ็บปวด โดยเฉพาะข้อเข่าเสื่อม เก๊าท์ และรูมาตอยด์ ซึ่งการระงับความปวดนั้นเทียบเท่ากับการใช้ยาไอโพรบูเฟนเลยทีเดียว
ล้างพิษตับ
ขมิ้นชันมีสรรพคุณที่ดีในการล้างตับ เนื่องจากเคอร์คิวมิน (Curcumin) ทำหน้าที่ในการลดไขมันพอกตับ ลดการเกิดพังผืดในตับ ป้องกันอาการตับแข็ง ยับยั้งการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ฟื้นฟูเซลล์ตับจากสารพิษตกค้างในยา
รักษาโรคผิวหนัง บำรุงผิว
สารเคอร์คิวมินในขมิ้นชันช่วยยับยั้งการอักเสบของร่างกาย จึงช่วยลดอาการคันบนผิวหนังได้ ตามภูมิปัญญาของคนไทยโบราณใช้ขมิ้นชันเพื่อช่วยลดอาการเกี่ยวกับผิวหนังกลาก เกลื้อน โดยการใช้ขมิ้นชันทั้งแบบเหง้าสดโขลกละเอียดและแบบตากแห้งบดเป็นผงผสมน้ำ ทาไว้บริเวณผิวหนังที่เป็นกลากเกลื้อนทุกวัน วันละ 2 ครั้ง หรืออาจบดเป็นผง แล้วนำมาขัดพอกผิวเพื่อให้ผิวนุ่มนวล กระจ่างใส สุขภาพผิวแข็งแรง
แก้ท้องร่วง
ขมิ้นชันช่วยต่อต้านแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร จึงรักษาอาการท้องร่วงได้ เป็นยารักษาที่หาได้ใกล้ตัว เพียงนำขมิ้นชันไปหั่น แล้วตำผสมน้ำเปล่า คั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม ครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ จะช่วยให้อาการท้องร่วงดีขึ้น
ช่วยขับลม ลดการจุกเสียด แน่นท้อง
เนื่องจากในขมิ้นชันมีสารที่ช่วยเพิ่มเอนไซม์ในการย่อยได้ จึงเป็นสมุนไพรไทยที่สามารถขับลม ลดอาการจุกเสียดแน่นท้องได้เมื่อนำมาผ่านความร้อน หรือปรุงในอาหาร
รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
ขมิ้นชันสามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ด้วยการหลั่งสารมิวซิน ช่วยให้เกิดการเคลือบกระเพาะอาหารและป้องกันกรด พร้อมทั้งยังช่วยยับยั้งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารด้วย จึงเป็นการป้องกันและรักษากระเพาะอาหารได้อย่างดีทีเดียว
ช่วยชะลอวัย ต้านอนุมูลอิสระ3
คุณประโยชน์ที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของขมิ้นชัน คือ การต้านอนุมูลอิสระ อันเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง เบาหวาน อัลไซเมอร์ และอื่นๆ ขมิ้นชันมีสรรพคุณชะลอวัยในแง่ของการลดการอักเสบ เพิ่มเอนไซม์กระตุ้นการกำจัดอนุมูลอิสระในเลือด
รักษาริดสีดวง
ขมิ้นชันมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคและลดการอักเสบ จึงนำมาใช้เป็นยารักษาริดสีดวงทวาร โดยการนำผงชมิ้นชันมาทาบริเวณหัวริดสีดวง จะช่วยให้แผลแห้งเร็วขึ้น และยังมีสรรพคุณในการสมานแผลอีกด้วย
แก้พิษแมลง กัด ต่อย
เมื่อเป็นแผลรอยแดงจากการโดนพิษของแมลงกัดต่อย สามารถใช้ชมิ้นชันช่วยบรรเทาอาการได้ โดยการนำผงชมิ้นชันเคี่ยวกับน้ำมันมะพร้าวจนกลายเป็นยาทาสำหรับรักษาแผล หรือนำผงชมิ้นชันไปแช่ผสมกับน้ำปูนใสมาพอกบริเวณแผลก็ได้เช่นกัน
ช่วยลดระดับไขมันในเส้นเลือด
ขมิ้นชันมีสารไฟโตสเตอรอล ซึ่งมีสรรพคุณช่วยยับยั้งคอเลสเตอรอล พร้อมทั้งมีฤทธิ์ในการลดไขมันในเส้นเลือด เมื่อระดับไขมันในเส้นเลือดลดลง จึงสามารถป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดอุดตันและโรคหัวใจได้
ลดการแข็งตัวของเลือด
ฤทธิ์จากสารในขมิ้นชัน สามารถช่วยลดการแข็งตัวของเลือด ซึ่งเป็นสรรพคุณสำคัญที่จะช่วยบรรเทาอาการของโรคเบาหวานได้
วิธีใช้งานขมิ้นชันแบบง่ายๆ4
ขมิ้นชันสามารถนำมาใช้งานทั้งภายในและภายนอก การใช้งานภายใน คือ การรับประทานเพื่อบำรุงร่างกาย รักษาอาการต่างๆ และการใช้งานภายนอก เป็นการทาหรือพอกบนผิวหนัง เพื่อรักษาอาการของโรคที่เกิดบนผิวหนังและบำรุงผิวพรรณให้มีสุขภาพดี โดยมีวิธีการใช้ ดังนี้
วิธีรับประทานขมิ้นชัน5
การกินขมิ้นชันตามช่วงเวลา สามารถบำรุงร่างกายได้ตามการทำงานของร่างกาย5 ดังนี้
-
ลดภูมิแพ้ บำรุงปอด ควรกินขมิ้นชันช่วง 03.00-05.00 น.
-
แก้ท้องผูก ป้องกันโรคริดสีดวงทวารและมะเร็งลำไส้ ควรกินขมิ้นชันช่วง 05.00-07.00 น.
-
ลดท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยบำรุงระบบทางเดินอาหาร ควรกินขมิ้นชันช่วง 07.00-09.00 น.
-
ลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันความเสี่ยงเกิดโรคเบาหวาน ควรกินขมิ้นชันช่วง 09.00-11.00 น.
-
บำรุงหัวใจและหลอดเลือด ควรกินขมิ้นชันช่วง 11.00-13.00 น.
-
บำรุงสมอง การนอน และการขับถ่าย ควรกินขมิ้นชันช่วง 17.00-21.00 น.
ทั้งนี้ การรับประทานขมิ้นชัน โดยทั่วไปจะมีอยู่ 3 วิธี คือ การรับประทานเหง้าสด การรับประทานแบบแคปซูล และการรับประทานแบบผงสกัดชงดื่ม ซึ่งการเลือกซื้อควรเลือกจากแหล่งผลิตที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย ไม่มีสเตียรอยด์ผสมเจือปน และกระบวนการผลิตไม่ควรผ่านความร้อนเกิน 65 องศาเซลเซียส เพื่อคงคุณภาพของขมิ้นชันไว้
กินสด
ขมิ้นชันที่เหมาะกับจะนำมากินสดจะต้องเป็นขมิ้นชันที่อายุ 9 -12 เดือน เก็บเกี่ยวในช่วงที่เหง้ายังไม่แตกหน่อ เพราะจะยังคงสารเคอร์คิวมินได้เต็มที่ สำหรับการเก็บรักษาเหง้าขมิ้นควรจะเก็บไว้ในที่ไม่มีแสงแดด และไม่เก็บไว้นานเกินไป เพราะจะทำให้น้ำมันหอมระเหยในขมิ้นชันหมดไป
สูตรน้ำขมิ้นชัน (เผยแพร่สูตรโดยแฟนเพจ สมุนไพรอภัยภูเบศร)
ส่วนประกอบ
-
ขมิ้นชัน 3-4 หัว
-
น้ำตาลกรวด 30 กรัม
-
น้ำผึ้ง 2 ช้อนชา
-
น้ำสะอาด 1 ลิตร
-
ขิงแก่ซอย 1 หยิบมือ
-
พริกไทยล่อน 14 ช้อนชา
วิธีทำ
จะแบ่งการต้มออกเป็น 2 ส่วน คือ การต้มน้ำขมิ้นชันและการต้มน้ำขิงผสมพริกไทย
การต้มน้ำขมิ้นชัน
-
นำขมิ้นชันมาปอกเปลือกล้างให้สะอาด
-
หั่นเป็นชิ้นแล้วนำไปตำให้แหลก จนได้น้ำ
-
กรองเอาน้ำแยกออกมา
-
ต้มกับน้ำสะอาด เคี่ยวไปเรื่อยๆ จนเหลือ 1 ใน 3 ส่วน
-
พักไว้
การต้มน้ำขิงพริก
-
นำขิงซอยและพริกไทยบด ไปต้มกับน้ำเล็กน้อยพอเดือด
-
พักไว้
เมื่อจะกินให้นำน้ำขมิ้นชันมาปรุงรสด้วยน้ำผึ้ง และน้ำขิงพริกไทยทีละแก้ว ขนาดการกิน คือ ดื่ม 1 แก้วกาแฟ วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
แบบแคปซูล
การกินขมิ้นชันในรูปแบบแคปซูลเป็นวิธีที่ง่ายและทำให้ได้รับปริมาณขมิ้นชันที่แน่นอน ผู้กินสามารถทราบถึงปริมาณการกินที่เหมาะสมกับตนเองได้
โดยทั่วไปในแคปซูลจะบรรจุด้านในแบบขิ้นชันแบบผง 250-400 มิลลิกรัมต่อแคปซูล ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้ โดยส่วนใหญ่จะกินเพื่อช่วยขับลม บรรเทาอาการแน่น จุกเสียด ท้องเฟ้อ เป็นต้น ปริมาณการกิน คือ 2-4 แคปซูล 4 เวลา หลังอาหาร และก่อนนอน
ผงสกัดชงดื่ม
ขมิ้นชันแบบผงสกัดชงดื่ม มีทั้งแบบผงสำหรับชงดื่มและแบบเม็ดฟู่ละลายน้ำดื่ม ซึ่งจะเป็นกรรมวิธีที่มีการสกัดเอาสารเคอร์คิวมินอยด์ไว้ในตัวผลิตภัณฑ์ในปริมาณที่เหมาะสม ขมิ้นชันแบบผงสกัดนี้จะยิ่งดื่มง่ายเพราะไม่มีกลิ่นรุนแรง และเมื่ออยู่ในรูปแบบที่ละลายน้ำ ก็ยิ่งทำให้ร่างกายดูดซึมได้ดีขึ้น
วิธีใช้ขมิ้นชันแบบอื่นๆ
นอกจากขมิ้นชันจะมีสรรพคุณเกี่ยวกับการบำรุงรักษาร่างกายจากภายในแล้ว ยังสามารถนำมาใช้เป็นยาภายนอก ซึ่งก็มีสรรพคุณที่ช่วยรักษาอาการผิดปกติของผิวหนังได้หลายอย่าง และสามารถใช้เป็นยาบำรุงรักษาผิวหนังให้มีความแข็งแรง เนียนนุ่ม อีกด้วย
ทา
ขมิ้นชันประกอบไปด้วยน้ำมันหอมระเหยและสารที่ช่วยในการลดการอักเสบ ฆ่าเชื้อโรค ช่วยสมานแผลได้ จึงมีการนำขมิ้นชันมาเป็นยาทาสำหรับรักษาแผลบนผิวหนัง ไม่ว่าจะเป็นฝี แผลพุพอง ผื่นคัน และแผลสด ซึ่งวิธีการ คือ การนำเอาขมิ้นชันแก่สดมาฝนกับน้ำสุกหรือจะใช้ผงขมิ้นชัน มาทาบริเวณที่เป็นแผล หากมีเหง้าขมิ้นชันแห้งก็สามารถใช้ได้เช่นกัน โดยการนำมาบดเป็นผงละเอียดทาที่แผล หรือจะนำผงชมิ้นชันนั้นมาเคี่ยวกับน้ำมันพืชกลายเป็นน้ำมันใส่แผลสดก็ได้
พอก
นอกจากใช้เพื่อรักษาแผลต่างๆ บนผิวหนังแล้ว ขมิ้นชันยังสามารถนำมาบำรุงผิวพรรณได้ด้วย เป็นสิ่งที่นิยมทำกันมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งมีทั้งรูปแบบของขมิ้นชันสดและผง ในกรณีของขมิ้นชันสดนั้น จะนำเหง้าสดมาปั่นให้ละเอียด ส่วนขมิ้นชันผงก็นำไปผสมน้ำเล็กน้อยนำไปพอกผิวได้เลย
นอกจากนี้ยังนำขมิ้นชันไปผสมกับวัตถุดิบอื่นๆ ที่ใช้บำรุงผิวได้ เช่น ดินสอพอง น้ำมะนาว น้ำนม น้ำผึ้ง ว่าน ไพล สรรพคุณที่สำคัญ ได้แก่ การบำรุงผิวหน้าให้ขาวเนียน ชุ่มชื่น เปล่งปลั่ง รักษาสิวเสี้ยน กระชับรูขุมขน รักษาแผลสิว ยับยั้งแบคทีเรีย ลดอาการผื่นคัน เป็นต้น
ข้อควรระวังในการใช้งานขมิ้นชัน6
ไม่ว่าเป็นพืชชนิดใดก็ตาม แม้จะมีประโยชน์แค่ไหนแต่ก็ยังมีโทษอยู่ดี เฉกเช่นขมิ้นชันที่ดูเหมือนจะมีสรรพคุณในการรักษาอาการต่างๆ มากมาย แต่ก็ผู้บริโภคก็ควรจะต้องศึกษาถึงข้อจำกัดและข้อควรระมัดระวังในการบริโภคขมิ้นชันด้วย
ซึ่งข้อควรระวังเบื้องต้นคือ การเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน มีกรรมวิธีการผลิตที่สะอาดปลอดภัย ไม่ผสมสารกระตุ้นอื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และการใช้ขมิ้นชันในอาการบางประเภท จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลกำกับของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัดด้วย
ทั้งนี้ ข้อควรระวังอื่นๆ ของการใช้ขมิ้นชันเพื่อรักษาอาการต่างๆ ได้แก่
-
ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์
-
ไม่ควรใช้ในผู้ที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดีหรือท่อน้ำดีอุดตัน
-
ระมัดระวังในการกินร่วมกับยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพราะจะไปเสริมฤทธิ์ยา
-
ระมัดระวังในการใช้ร่วมกับยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด เช่น doxorubicin, chlormethine, cyclophosphamide และ camptothecin เนื่องจากอาจมีผลต้านฤทธิ์ยาดังกล่าว
-
ระมัดระวังในการใช้ขมิ้นชันกับเด็ก เพราะว่ายังไม่มีข้อมูลยืนยันด้านผลลัพธ์และความปลอดภัย
-
ระมัดระวังในผู้ที่แพ้ขมิ้นชัน โดยอาการเบื้องต้น คือ อาการคลื่นไส้ ปวดหัว ท้องเสีย นอนไม่หลับ
-
ควรรับประทานขมิ้นชัน ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากจนเกินไป จนทำให้ส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่าจะเกิดประโยชน์
สรุป
ขมิ้นชัน พืชสมุนไพรประจำบ้าน หาได้ใกล้ตัว โดยทั่วไปใช้ส่วนของเหง้าขมิ้นชันมาทำยารักษาทั้งในรูปแบบเหง้าสดและที่แปรรูปแล้ว นอกจากนั้นยังมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมายหลาย
ประการ ไม่ว่าจะเป็นการเสริมภูมิคุ้มกัน ลดไข้หวัด ต้านไวรัส รักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ การรักษาแผลในกระเพาะและลำใส้ การลดการอักเสบและลดปวด การลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด การยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย และอื่นๆ อีกหลายประการ
ดังนั้นขมิ้นชันจึงเป็นพืชที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม เพราะมีสรรพคุณหลากหลายและหาได้ไม่ยาก มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสุขภาพร่างกาย จึงได้รับความสนใจจากวงการสุขภาพเป็นอย่างมาก/span>