|
อาการเวียนหัว หน้ามืดบ่อยเหมือนจะวูบอาจเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน หรือความผิดปกติภายในร่างกาย ป้องกันได้โดยดูแลสุขภาพตัวเอง กินให้ดี นอนให้พอ
อาการเวียนหัวเป็นยังไง?
อาการเวียนหัวเป็นประสบการณ์ที่ใครหลายคนต่างคุ้นเคย ซึ่งมักแสดงออกด้วยอาการมึนหัว รู้สึกลอยๆ และทรงตัวไม่มั่นคง เหมือนโลกรอบตัวกำลังหมุนวน บางครั้งอาจมีอาการหน้ามืดร่วมด้วย โดยอาการนี้เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มักพบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ หลายคนมักมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาการเวียนหัวอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาสุขภาพ ดังนั้น หากพบอาการแบบนี้บ่อยๆ หรือรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ1
อาการเวียนหัว หน้ามืดบ่อย เกิดจากอะไร
การใช้ชีวิตประจำวัน
อาการเวียนหัว หน้ามืดบ่อย เหมือนจะวูบ อาจเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนี้
- ภาวะขาดน้ำ ทำให้อุณหภูมิภายในสูงขึ้น ของเหลวในกระแสเลือดลดลง เลือดมีความหนืดมากขึ้น นำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูงและอาการเวียนหัว2
- การขาดวิตามินดี ทำให้ระดับสารสื่อประสาท เช่น เซโรโทนิน (Serotonin) ที่ช่วยควบคุมอารมณ์จะลดลง ส่งผลให้เกิดความเครียดและภาวะซึมเศร้า ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของการเกิดไมเกรนและอาการปวดหัวเรื้อรัง11
- ภาวะขาดธาตุเหล็ก อาจทำให้โลหิตจาง เกิดจากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงมีจำนวนและคุณภาพลดลง ทำให้การลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายไม่มีประสิทธิภาพ
- ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจเกิดจากการอดอาหารเป็นเวลานาน การกินอาหารไม่ตรงเวลา ฮอร์โมนไม่สมดุล หรือการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือดทั้งสิ้น
- ความเครียด ความเหนื่อยล้า ทำให้สมองปล่อยฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง อัตราการเต้นหัวใจเพิ่มสูงขึ้น และการหายใจเร็วขึ้น ส่งผลให้รู้สึกเวียนหัวหรือหน้ามืด2
- ผลข้างเคียงของยา เช่น ยารักษาโรคลมบ้าหมู โรคหลอดเลือดหัวใจ และความดันโลหิตสูง โดยฤทธิ์ของยามีผลกระทบต่อระบบประสาทและการไหลเวียนโลหิต
- อาการเมารถ เป็นอาการที่เกิดจากความขัดแย้งทางสัญญาณประสาทระหว่างการรับรู้การเคลื่อนไหวของหูชั้นในกับสายตา ทำให้เวียนหัว และคลื่นไส้ จนถึงขั้นอาเจียนได้
- อาการเมาค้าง เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ร่างกายจึงต้องกำจัดของเสียอย่างหนัก ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ และความไม่สมดุลของฮอร์โมน จนทำให้เวียนหัว อ่อนเพลีย และรู้สึกไม่สบายตัว
- พักผ่อนไม่พอ ทำให้การทำงานของสมองลดประสิทธิภาพลง กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนความเครียด (Cortisol) จนทำให้อารมณ์แปรปรวน เครียด เป็นไมเกรน และเกิดอาการเวียนหัวได้2
- ใช้สายตาหนักเกินไป ส่งผลกระทบต่อดวงตาอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการล้าตา ปวดตา และอาจนำไปสู่อาการเวียนหัวได้
- เปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการลุกหรือนั่งอย่างรวดเร็ว ทำให้ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ซึ่งมักพบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุและอาจนำไปสู่อาการเวียนหัวหรือหน้ามืดได้ง่าย
- อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ส่งผลต่อระบบหมุนเวียนโลหิต โดยเฉพาะเส้นเลือดบริเวณหัวและขมับที่มีแนวโน้มหดตัว ซึ่งอาจนำไปสู่อาการเวียนหัวหรือปวดหัวได้
- สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะบริเวณที่มีก๊าซพิษอย่างคาร์บอนมอนอกไซด์และคาร์บอนไดออกไซด์จากท่อไอเสียรถยนต์ เมื่อสูดดมเกินระดับมาตรฐานจะทำให้เวียนหัวและคลื่นไส้ได้อย่างรวดเร็ว2
_1.jpg)
ความผิดปกติภายในร่างกาย
อาการเวียนหัวอาจเกิดจากความผิดปกติภายในร่างกาย ดังนี้
- ความผิดปกติของหูชั้นใน โดยเฉพาะปัญหาความไม่สมดุลของน้ำในหู ส่งผลต่อระบบการทรงตัวและการรับรู้ตำแหน่งของร่างกาย ทำให้เกิดอาการมึนหัวและรู้สึกไม่มั่นคงอย่างต่อเนื่อง2,3
- ภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) โดยเฉพาะอาการปวดหัวที่อาจบ่งบอกถึงการดื้ออินซูลินเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษาอาจเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานประเภท 2 และอาจทำลายหลอดเลือดและเส้นประสาทในร่างกาย2
- อาการไมเกรน ที่เกิดจากการขาดวิตามินดี มีอาการเวียนหัวและลุกลามไปสู่การปวดหัวรุนแรง เกิดจากความเครียด แสงจ้า หรือเสียงรบกวน อาการนี้อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้11
- ความผิดปกติของสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะรุนแรง เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองไม่พอ ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทและนำไปสู่อาการเวียนหัวที่เป็นอันตรายได้2,3
- ความผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรง เช่น โรคเส้นเลือดตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หรือโรคหลอดเลือดสมองตีบ ที่ส่งผลข้างเคียงจนมีอาการเวียนหัวได้1,2,3
- ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะช่วงวัยหมดประจำเดือน (Menopause) ระดับฮอร์โมนในร่างกายจะเริ่มขาดสมดุล โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนและโพรเจสเตอโรนที่แปรปรวน สาวๆ จึงมักมีอาการเวียนหัวร่วมด้วย2
- โรคโลหิตจาง ที่อาจเกิดจากการขาดวิตามินบี 12 เป็นภาวะที่ร่างกายมีเม็ดเลือดแดงผิดปกติหรือไม่เพียงพอ ส่งผลให้การลำเลียงออกซิเจนลดลง อาจทำให้เกิดอาการเวียนหัวเนื่องจากหลอดเลือดสมองขยายตัว และหากรุนแรงอาจนำไปสู่ภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxia) ได้10
- การติดเชื้อหรืออาการเจ็บป่วย เช่น ไข้หวัดที่เป็นต่อเนื่องหลายสัปดาห์ อาจทำให้ไวรัสแพร่กระจายไปยังหูและเส้นประสาทการได้ยิน ส่งผลให้เกิดอาการเวียนหัวรุนแรงและยาวนานได้2,3
- อาการแพ้ท้อง มักมาพร้อมอาการเวียนหัว คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย บางรายอาจมีภาวะ Hyperosmia หรือไวต่อกลิ่นและรสชาติผิดปกติ2
เวียนหัว ควรดูแลสุขภาพยังไง?
วิธีป้องกันหรือวิธีแก้อาการหน้ามืด เวียนหัว เหมือนจะวูบ คือ การดูแลสุขภาพภายในให้ดี โดยเฉพาะการกินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้พอ พักผ่อนให้เหมาะสม ออกกำลังกาย รวมถึงการจัดการความเครียดร่วมด้วย ดังนี้
_2.jpg)
กินอาหารที่มีประโยชน์
อาการเวียนหัว หน้ามือบ่อยขาดวิตามินอะไร? อาจเกิดจากการขาดวิตามินหรือแร่ธาตุบางชนิด เช่น วิตามินบี 12 ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงและรักษาระบบประสาท หากขาดอาจนำไปสู่ภาวะโลหิตจาง ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและเวียนหัวได้ นอกจากนี้ หากขาดวิตามินดีที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเซโรโทนินในสมอง ซึ่งช่วยลดความเครียดและภาวะซึมเศร้าจากภาวะไมเกรน ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวได้11 และหากขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของฮีโมโกลบิน อาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ส่งผลให้เวียนหัวและใจสั่นได้4
การกินอาหารที่มีประโยชน์ช่วยป้องกันอาการเวียนหัว ควรเน้นอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น ธาตุเหล็กจากเนื้อแดง เครื่องในสัตว์ และผักใบเขียวเข้ม ซึ่งช่วยป้องกันภาวะโลหิตจาง รวมถึงวิตามินบี 12 จากเนื้อสัตว์ ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนม ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบประสาท นอกจากนี้ ควรได้รับวิตามินดีจากปลาไขมันสูงเพื่อช่วยลดความเครียด และปรับปรุงระบบไหลเวียนเลือด ทำให้อาการปวดหัวโดยเฉพาะไมเกรนลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ11
ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกาย
น้ำเป็นองค์ประกอบหลักของร่างกายถึง 60% ของน้ำหนักตัว และมีบทบาทสำคัญต่อระบบการทำงานต่างๆ เช่น การปกป้องอวัยวะภายใน รวมถึงการลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนเข้าสู่เซลล์ อาการเวียนหัวมักเกิดจากภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจมาพร้อมกับอาการเหนื่อยล้า กระหายน้ำ และปัสสาวะน้อยกว่าปกติ ดังนั้น ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละ 8 - 12 แก้ว เพื่อช่วยรักษาสมดุลของร่างกายและบรรเทาอาการเวียนหัวที่เกิดจากการขาดน้ำ5
พักผ่อนให้เพียงพอ
การพักผ่อนอย่างเพียงพอสำคัญต่อสุขภาพโดยรวมและช่วยป้องกันอาการเวียนหัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการนอนหลับช่วยฟื้นฟูระบบประสาท ทำให้การควบคุมสมดุลของร่างกายเป็นไปอย่างปกติ อีกทั้งยังมีบทบาทควบคุมระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความดันโลหิตและสมดุลของเหลว หากพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจทำให้ร่างกายเกิดความเครียด ส่งผลให้เกิดอาการเวียนหัวได้ง่าย6
สำหรับผู้ใหญ่ ควรนอนหลับประมาณ 7 - 9 ชั่วโมงต่อวัน6 ในขณะที่เด็กและวัยรุ่นอาจต้องนอนหลับมากกว่านี้ Sleep Cycle หรือวงจรการนอนหลับที่สมบูรณ์ยังช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยควรนอนให้ครบวงจรอย่างน้อย 90 นาทีต่อรอบเพื่อหลีกเลี่ยงความอ่อนเพลีย หากมีอาการเวียนหัวบ่อยครั้งหรือรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน รวมถึงช่วยป้องกันอาการเวียนหัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงของอาการเวียนหัวที่เกิดจากภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังช่วยลดความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเวียนหัว โดยกระตุ้นการหลั่งสารเอ็นโดรฟินที่ช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย
กิจกรรมอย่างคาร์ดิโอ เช่น เดินเร็ว ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและลดความเครียด7 ขณะที่การฝึกทรงตัวอย่างโยคะช่วยปรับปรุงระบบการทรงตัวและลดอาการเวียนหัวจากปัญหาหูชั้นใน8 นอกจากนี้ การยืดกล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่ยังช่วยลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการเวียนหัว หากมีอาการเวียนหัวขณะออกกำลังกาย ควรหยุดพักทันที และหากอาการยังคงอยู่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
จัดการความเครียด
ความเครียดถือเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้มีอาการเวียนหัว ปวดหัว การความเครียดมีส่วนช่วยให้จิตใจและร่างกายผ่อนคลายขึ้น ได้แก่ การออกกำลังกาย เพื่อกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมนเอ็นโดรฟินที่ช่วยลดความเครียด การนั่งสมาธิและฝึกหายใจเพื่อสงบจิตใจ การบริหารเวลาให้มีความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว การผ่อนคลายด้วยกิจกรรมสนุกๆ ทั้งการดูหนังหรือฟังเพลง และการเปลี่ยนวิธีคิดเพื่อปรับมุมมองในเชิงบวกเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่พบเจอ9
สรุป
อาการเวียนหัวมักแสดงอาการมึนหัว ทรงตัวไม่มั่นคง และรู้สึกเหมือนบ้านหมุน หรือหน้ามืดจนจะวูบ บางครั้งอาจมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนร่วมด้วย ซึ่งอาจเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ขาดน้ำ ขาดธาตุเหล็ก หรือระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ รวมถึงความเครียด หรือผลข้างเคียงของยา อาการเมารถ เมาค้าง หรือการพักผ่อนไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ยังอาจเกิดจากความผิดปกติในร่างกาย เช่น ภาวะหูชั้นในผิดปกติ ไมเกรน หรือโรคต่างๆ เช่น โรคโลหิตจาง หรือการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน วิธีแก้อาการหน้ามืด เวียนหัว เหมือนจะวูบสามารถทำได้ด้วยการดูแลสุขภาพ เช่น การกินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม