อบเชย มีคุณสมบัติทางยาชั้นดีเพราะให้สารสำคัญ ได้แก่ กรดซินนามิก (Cinnamic Acid) ซินนามาลดีไฮด์ (Cinnamaldehyde) ยูจีนอล (Eugenol) และเอทิลซินนาเมต (Ethyl Cinnamate) ช่วยลดการหลั่งสารฮีสตามีนที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และยังมีสรรพคุณอื่นๆ อีกมากมาย
อบเชย คืออะไร?
อบเชย หรือ ชินนามอน (Cinnamon) คือ เครื่องเทศชนิดหนึ่งที่มาจากเปลือกชั้นในของต้นอบเชยที่ตากแห้งแล้ว นำมาม้วนเป็นแท่งหรือบดเป็นผง ซึ่งอบเชยจะมีรสชาติเผ็ดปนหวานเล็กน้อย และมีกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ นิยมนำมาใช้ในการปรุงอาหาร
นอกจากนั้นยังมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยบำรุงร่างกายได้หลายประการ จึงถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์แผนโบราณมาอย่างยาวนาน สายพันธุ์ของอบเชยยังมีด้วยกันหลายชนิด โดยจะเรียกชื่อต่างกันไปตามสถานที่ปลูก เช่น อบเชยจีน อบเชยลังกา เป็นต้น
ในอบเชย มีอะไรบ้าง
อบเชยประกอบไปด้วยสารอาหารที่สำคัญอย่างแคลเซียมและโพแทสเซียม ซึ่งแคลเซียมจะช่วยป้องกันการเสื่อมของกระดูก และโพแทสเซียมจะช่วยลดผลกระทบจากโซเดียมต่อความดันโลหิต และควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ และยังเกี่ยวข้องกับการทำงานของเส้นประสาทด้วย1
สรรพคุณของอบเชย
ด้วยรสชาติและกลิ่นหอมที่ไม่เหมือนใคร ทำให้อบเชย หรือ ชินนามอน กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญในเมนูอาหารมากมาย แต่นอกจากจะเป็นเครื่องปรุงยอดนิยมแล้ว อบเชยยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกหลายประการ ดังนี้
คุณสมบัติทางยาชั้นดี
ด้วยสารประกอบในอบเชยซึ่งมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง ทำให้อบเชยถูกนำมาใช้ทางการแพทย์แผนโบราณมาเนิ่นนาน โดยคุณสมบัติของอบเชยที่มีกลิ่นหอมอุ่น รสชาติเผ็ดอมหวาน มีฤทธิ์ร้อน จึงสามารถใช้เป็นส่วนประกอบของยาบำรุงร่างกายได้ ทำให้ร่างกายอบอุ่น ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี แก้อ่อนเพลีย เพิ่มความสดชื่น เสริมสร้างระบบเผาผลาญให้ดีขึ้น5 จึงมักจะพบอบเชยเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกด้วย ทั้งยาแผนโบราณ ยาหอม ยานัตถุ์ ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เครื่องสำอาง สบู่ ฯลฯ
ช่วยบรรเทาอาการแพ้
ส่วนลำต้นของอบเชยให้สารสำคัญ ได้แก่ กรดซินนามิก (Cinnamic Acid) ซินนามาลดีไฮด์ (Cinnamaldehyde) ยูจีนอล (Eugenol) และเอทิลซินนาเมต (Ethyl Cinnamate) ซึ่งสารเหล่านี้จะช่วยลดการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาวที่มารวมตัวกันเมื่อเกิดการแพ้ ช่วยให้มาสต์เซลล์หลั่งฮีสตามีนน้อยลง6 ซึ่งฮีสตามีนคือตัวการที่ทำให้เกิดลักษณะอาการแพ้ เช่น อาการบวมแดง อาการคัน เป็นต้น เมื่อหลั่งฮีสตามีนน้อยลงจะช่วยบรรเทาอาการแพ้ได้
หมดปัญหา
ภูมิแพ้เรื้อรัง
ช่วยลดการอักเสบ
สารสกัดจากอบเชยนั้นมีสารประกอบฟลาโวนอยด์ หรือสารต้านอนุมูลอิสระอยู่มากมาย เช่น กอสไซปิน (Gossypin), เฮสเพอริดิน (Hesperidin), เควอซิทิน (Quercetin)4 จากการศึกษาพบว่าสารประกอบเหล่านี้มีคุณสมบัติต้านการอักเสบได้ ด้วยกลไกที่สามารถต้านการอักเสบที่เกิดจากการทำงานของภูมิคุ้มกันที่มากเกินไป เช่น การแพ้ที่ผิวหนังอย่างรุนแรง หลอดเลือดอักเสบที่ผิวหนัง9 เป็นต้น นอกจากนี้สารสกัดจากอบเชยอย่างสารไฮดรอกซีซินนามาลดีไฮด์ (Hydroxycinnamaldehyde) อาจมีสรรพคุณช่วยลดการอักเสบจากโรคทางระบบประสาทได้ด้วยเช่นกัน4
ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
สารโพลีฟีนอล (Polyphenol) ที่อยู่ในอบเชยนั้นสามารถช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้พุ่งสูงขึ้น และช่วยเสริมประสิทธิภาพอินซูลินในร่างกายให้ทำงานได้อย่างเต็มที่ ทำให้น้ำตาลถูกลำเลียงไปใช้เป็นพลังงานได้มาก ระดับน้ำตาลในเลือดจึงลดลงและลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเบาหวานได้4
ส่งผลดีต่อระบบประสาท
เมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคทางระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากโครงสร้างหรือการทำงานของเซลล์ประสาทเริ่มเสื่อมลง ซึ่งสารประกอบในอบเชยมีคุณสมบัติยับยั้งการสะสมของโปรตีนในสมอง อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ และอาจช่วยให้ระบบประสาททำงานได้อย่างเป็นปกติอีกด้วย3
ป้องกันโรคมะเร็ง
จากการศึกษาพบว่าอบเชยสามารถชะลอหรือระงับการสร้างเซลล์มะเร็ง และชะลอหรือระงับการสร้างเส้นเลือดใหม่ไปหล่อเลี้ยงที่เนื้องอกได้2 อีกทั้งอบเชยยังออกฤทธิ์ที่เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง3 ทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถคงอยู่และตายไปในที่สุด ด้วยเหตุนี้อาจกล่าวได้ว่าอบเชยมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคมะเร็ง
ต่อต้านอนุมูลอิสระ
อบเชยอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระสูง เมื่อเทียบกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ เช่น กานพลู ออริกาโน เป็นต้น4 จึงสามารถใช้อบเชยเป็นสารกันบูดตามธรรมชาติได้อีกด้วย3
ต่อต้านไวรัส
งานวิจัยบางชิ้นระบุว่าอบเชยช่วยต่อต้านไวรัสบางชนิดได้ เช่น ไวรัส HIV-1 ซึ่งเป็นเชื้อ HIV ที่พบบ่อยได้ที่สุด รวมไปถึงไวรัสไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออกที่เป็นการติดเชื้อไวรัสจากยุงได้3
หมดปัญหา
ภูมิแพ้เรื้อรัง
ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
ส่วนประกอบในอบเชยอย่างซินนามาลดีไฮด์ (Cinnamaldehyde) ที่ทำให้อบเชยมีกลิ่นและรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์นั้น ยังมีสรรพคุณที่ช่วยยับยั้งแบคทีเรียและเชื้อรา ซึ่งได้ทำการทดสอบกับแบคทีเรียและเชื้อราหลายชนิด เช่น เชื้อสแตฟฟิโลคอกคัส (Staphylococcus), เชื้ออีโคไล (E. coli), เชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella) และเชื้อราแคนดิดา (Candida) พบว่าอบเชยสามารถช่วยลดการเจริญเติบโตของเชื้อราเหล่านี้ได้1 นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก ที่ช่วยคืนสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ พร้อมเสริมสุขภาพและบรรเทาปัญหาในระบบทางเดินอาหาร2 อีกทั้งยังสามารถยับยั้งแบคทีเรียในช่องปาก ทำให้ป้องกันฟันผุและลดกลิ่นปากได้อีกด้วย3
ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ
มีงานวิจัยระบุว่าการกินอบเชย 1.5 กรัมต่อวัน สามารถช่วยลดความดันโลหิต ไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอลรวม และคอเลสเตอรอลชนิดเลวได้ ซึ่งทั้งหมดนี้คือปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ1 อีกทั้งอบเชยยังสามารถช่วยปรับระดับไขมันในเลือด และเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดีได้อีกด้วย5 ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการกินอบเชยเป็นประจำสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้
เพิ่มสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย
อบเชยอาจช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศในผู้ชายได้ โดยเฉพาะปัญหาภาวะหลั่งเร็ว โดยจากการศึกษาให้กลุ่มทดลองใช้ครีมที่มีส่วนผสมของอบเชย ยาโบราณ และโสมเกาหลี ทาบริเวณอวัยวะเพศชายเป็นเวลา 1 ชั่วโมง จากนั้นล้างออกก่อนทำกิจกรรมทางเพศ พบว่าช่วยแก้ปัญหาภาวะหลั่งเร็วได้4 อย่างไรก็ตามการทดลองนี้ยังเป็นเพียงการศึกษากับกลุ่มทดลองบางกลุ่ม และตัวครีมยังมีส่วนผสมอีกมากมาย ทำให้สรรพคุณของอบเชยกับการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศนั้นยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเพิ่มเติม
ผลข้างเคียงของอบเชย
อย่างที่ทราบไปแล้วว่าอบเชยมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งช่วยป้องกันโรค การอักเสบ ยิ่งไปกว่านั้น ยังช่วยปรับปรุงสุขภาพลำไส้ สุขภาพช่องปาก ลดระดับคอเลสเตอรอล และลดความดันโลหิต อย่างไรก็ตามสำหรับบางคนนั้น การกินอบเชยสามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น
- อาการแพ้อบเชย เช่น คัน บวมแดง หายใจลำบาก คัดจมูก ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น8
- การระคายเคืองและภูมิแพ้ การกินอบเชยมากเกินไป อาจทำให้เกิดแผลหรือระคายเคืองที่ริมฝึปาก หรือบนผิวหนัง หรืออาจก่อให้เกิดภูมิแพ้1
- ทำให้น้ำตาลในเลือดลดลง การกินอบเชยมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด1 หากกำลังรักษาโรคเบาหวานอยู่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป
- เกิดความเป็นพิษ หากกินอบเชยในปริมาณมาก สารคูมาริน (Coumarin) ในอบเชยอาจทำให้ร่างกายเกิดความเป็นพิษได้3 เนื่องจากสารคูมารินส่งผลเสียต่อตับ ดังนั้นเด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีที่ให้นมบุตร ควรระมัดระวังการกินอบเชยเป็นยา
- มีผลกระทบต่อยาที่ใช้อยู่ได้ อบเชยอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของยารักษาโรคที่ใช้เป็นประจำ1 ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของอบเชย
บริโภคอบเชยให้ปลอดภัย
อบเชยจะให้คุณประโยชน์มากมาย หากกินในปริมาณที่เหมาะสม โดยสามารถกินอบเชยได้ด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้
อาหารเสริม
ปัจจุบันนี้ อบเชยสามารถกินได้ในรูปแบบอาหารเสริม ซึ่งการกินอบเชยในรูปแบบนี้มีข้อดีตรงที่ให้ความสะดวกสบาย เนื่องจากอาหารเสริมจะกำหนดปริมาณในการกินที่เหมาะสมให้อยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องกังวลในปริมาณการกินต่อวัน รวมไปถึงอาหารเสริมมักจะเป็นรูปแบบเม็ดหรือแคปซูล ที่สามารถกินได้ง่าย ไม่ต้องผ่านกรรมวิธีต่างๆ ทำให้การกินอบเชยในรูปแบบอาหารเสริมจึงได้รับความนิยมไม่น้อย
ชงดื่ม
การนำอบเชยมาชงดื่มก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นเครื่องเทศให้สัมผัสที่หอมกรุ่นและอบอุ่น หลายๆ คนจึงนิยมนำผงอบเชยมาชงดื่ม โดยวิธีการชงนั้นเพียงแค่นำผงอบเชย 1 ช้อนชา มาละลายในน้ำร้อน หรือนำก้านอบเชยมาแช่ในน้ำร้อน จะได้เป็นน้ำอบเชยไว้ดื่มเพิ่มความสดชื่น หรือสามารถนำผงอบเชยไปผสมกับเครื่องดื่มต่างๆ เช่น ชา กาแฟ นม ช็อกโกแลต เพื่อเพิ่มรสชาติและความหอมได้เช่นกัน
ผสมในอาหาร
อย่างที่ทราบกันว่าอบเชยเป็นเครื่องเทศที่มีติดครัวอยู่แล้ว เพราะสามารถนำไปผสมในอาหารได้หลากหลายชนิด ทั้งอาหารคาว เช่น พะโล้ มัสมั่น เมนูตุ๋น เมนูผงกะหรี่ หรืออาหารหวานอย่างขนมปัง เบเกอรี่ ลูกอม หมากฝรั่ง เครื่องดื่ม ก็ล้วนแต่ใช้อบเชยเป็นส่วนผสมได้ทั้งสิ้น ด้วยรสชาติและกลิ่นที่หอมหวานจึงชวนให้อาหารน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ต้องระมัดระวังการกินน้ำตาลในปริมาณมากเกินความต้องการในแต่ละวันด้วย
สรุป
อบเชย หรือ ชินนามอน คือ เครื่องเทศที่ทำจากเปลือกชั้นในของต้นอบเชยที่ตากแห้งแล้ว มีกลิ่นหอม และรสชาติเผ็ดปนหวาน พร้อมอุดมไปด้วยสารประกอบที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ซินนามาลดีไฮด์ ฟลาโวนอยด์ โพลีฟีนอล ฯลฯ ที่ช่วยบำรุงให้ร่างกายสดชื่น ปรับระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยลดความเสี่ยงจากโรคต่างๆ ได้ การกินอบเชยควรกินแต่พอดี เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการแพ้ ระคายเคือง น้ำตาลในเลือดต่ำ เกิดความเป็นพิษ และกระทบต่อยาที่ใช้ได้ ดังนั้น ควรศึกษาเกี่ยวกับอบเชยก่อนกินผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรนี้ เพื่อให้ได้สุขภาพที่ดีและห่างไกลจากผลข้างเคียง
หมดปัญหา
ภูมิแพ้เรื้อรัง