สัญญาณอันตราย ตับพังไม่รู้ตัว ถึงจะไม่ชอบดื่มก็เป็นโรคตับแข็งได้! โดยโรคตับแข็งเกิดได้จากหลายสาเหตุ สามารถป้องกัน และดูแลตับเพื่อให้สุขภาพตับดีได้
โรคตับแข็ง คืออะไร
โรคตับแข็ง คือ ภาวะของตับที่ได้รับความเสียหาย หรือเกิดแผลขึ้นภายในตับอย่างถาวร โดยมีลักษณะเฉพาะเป็นเนื้อเยื่อ หรือพังผืดส่วนเกินเกิดขึ้นในเนื้อตับ มีผลมาจากภาวะตับอักเสบเรื้อรัง เช่น ไวรัสตับอักเสบ โรคพิษสุราเรื้อรัง หรือไขมันคั่งภายในตับ เป็นต้น1
ภาวะเหล่านี้จะส่งผลให้ตับเกิดการอักเสบเป็นระยะเวลานาน และทำการซ่อมแซมตัวเอง จนกระบวนการซ่อมแซมได้สร้างเนื้อเยื่อพังผืดขึ้นมา สะสมนานเข้าจนกลายเป็นโรคตับแข็ง ทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ ไม่สามารถทำหน้าที่ทำลายสารพิษ และจะปิดกั้นการไหลเวียนของโลหิตที่ไหลผ่านตับด้วย2
อาการของโรคตับแข็ง
สำหรับอาการของโรคตับแข็งนั้นยังไม่สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ในช่วงแรก เพราะส่วนใหญ่คนไข้จะแสดงอาการก็ต่อเมื่อตับได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงแล้ว โดยโรคตับแข็งจะมีอาการที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้1 2
- รู้สึกอ่อนเพลีย หรือเหนื่อยล้าง่าย
- รู้สึกไม่อยากอาหาร และน้ำหนักลด
- รู้สึกคลื่นไส้ หรืออาเจียนผิดปกติ
- มีอาการบวมตามขา เท้า หรือข้อเท้า
- มีอาการท้องโต หรือภาวะท้องมาน (Ascites)
- มีอาการคันที่ผิวหนังอย่างรุนแรง
- มีอาการเกี่ยวกับสมอง เช่น ลืมง่าย ไม่มีสมาธิ หรือไม่มีอาการตอบโต้
- มีอาการเลือดออกง่าย หรือเป็นจ้ำเลือดง่าย
- มีภาวะดีซ่าน เช่น ตัวเหลือง หรือตาเหลือง
- มีเส้นเลือดฝอยลักษณะคล้ายใยแมงมุมที่บริเวณหน้าอก หรือหลัง
- บริเวณฝ่ามือมีลักษณะแดงอย่างชัดเจน
- ในกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง อาจมีอาการประจำเดือนผิดปกติร่วมด้วย
- ในกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ชาย อาจมีอาการเต้านมขยาย และมีอาการปวดร่วมด้วย
สาเหตุที่ทำให้เป็นโรคตับแข็ง
สำหรับโรคตับแข็ง สามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ และถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ก็มีโอกาสเป็นโรคตับแข็งได้เช่นกัน โดยสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคตับแข็ง มีดังนี้1 2 3
- โรคพิษสุราเรื้อรัง ที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นเวลานาน
- ติดไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง เช่น ไวรัสตับเอกเสบบี ซี และดี
- โรคตับอักเสบจากภูมิต้านทานตัวเอง
- โรควิลสัน (Wilson's Disease) หรือภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย
- ภาวะไขมันเกาะตับ หรือโรคไขมันคั่งตับ
- ภาวะท่อน้ำดีอุดตัน
- ภาวะหัวใจล้มเหลวหลายครั้งติดต่อกัน
- กินยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน
- การได้รับสารพิษบางชนิด
- การสะสมไกลโคเจน (Glycogen) ในตับอย่างผิดปกติ
- การสะสมธาตุเหล็กของเนื้อเยื่อผิดปกติ
พฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นตับแข็ง
โรคตับแข็ง เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดตับแข็งได้ โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลให้เป็นโรคตับแข็งได้ มีดังนี้4
- การกินอาหารโซเดียมสูง ที่มากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ส่งผลให้เกิดการสะสม ทำร้ายตับ และกลายเป็นโรคตับแข็งได้
- การดื่มแอลกอฮอล์ หากดื่มมาเป็นระยะเวลานานๆ อาจส่งผลให้เกิดการสะสมของไขมันในตับ ที่ทำให้ตับเกิดการอักเสบ และเกิดพังผืด ซึ่งเมื่อตับเกิดการอักเสบเป็นระยะเวลานานก็จะทำให้เกิดโรคตับแข็ง
- การใช้ยาที่ไม่เหมาะสม เมื่อใช้ยาบางชนิดติดต่อกันนานเกินไป ใช้ในปริมาณสูง หรือใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ทำให้ตับไม่สามารถทำลายได้ทัน และกลายเป็นส่วนเกินที่กลับมามีฤทธิ์ทำลายเนื้อตับ หรือร้ายแรงจนเกิดภาวะตับวายได้
- กลุ่มคนที่มีไวรัสตับอักเสบบีและซี หากเป็นแบบเรื้อรัง และไม่ทำการรักษา อาจส่งผลให้ตับมีอาการอักเสบเป็นระยะเวลานาน และกลายเป็นโรคตับแข็งตามมาในที่สุด
วิธีป้องกัน และดูแลตับให้สุขภาพดี ไม่เป็นตับแข็ง
ถึงแม้ว่าโรคตับแข็งจะเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ก็ยังมีวิธีป้องกัน และการดูแลตับให้สุขภาพดี เพื่อลดโอกาสในการเป็นตับแข็งได้ ดังนี้
กินอาหารที่ดีต่อตับ
การกินอาหารที่ดีต่อตับ เป็นวิธีป้องกันโรคตับแข็งที่สามารถช่วยป้องกัน และดูแลตับที่สามารถเริ่มต้นทำได้ง่ายๆ ด้วยการเลือกกินอาหารที่มีเส้นใยสูง เพื่อช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ปกติ และป้องกันไม่ให้เกิดอาการท้องผูก จนเกิดการดูดซึมสารพิษไปสะสมไว้ในร่างกาย3
โดยอาหารที่มีเส้นใยสูงนั้น ได้แก่ ข้าวกล้อง ธัญพืชที่ไม่ขัดสี ผัก หรือผลไม้ต่างๆ5อย่างบรอกโคลี เมล็ดองุ่น หรือชะเอมเทศ ที่มีส่วนช่วยในการดูแลตับ ช่วยป้องกันอาการอักเสบ ป้องกันการเป็นพิษต่อตับ ช่วยป้องกันตับจากความเสียหายต่างๆ ช่วยต้านอนุมูลอิสระในตับ ช่วยป้องกันภาวะไขมันพอกตับ และช่วยลดโอกาสในการเกิดมะเร็งตับได้
ออกกำลังกายและคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์
การออกกำลังกาย และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ เป็นวิธีป้องกันโรคตับแข็งที่ช่วยดูแลสุขภาพตับ และลดโอกาสในการเกิดโรคตับแข็งได้เป็นอย่างดี เพราะสามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะไขมันพอกตับ หรือโรคไขมันคั่งตับได้ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะอักเสบเรื้อรังจากไขมันพอกตับที่อาจนำไปสู่ตับแข็งได้ด้วยเช่นกัน6
กินอาหารที่มีโอเมก้า-3 (Omega-3)
การกินอาหารที่มีโอเมก้า-3 (Omega-3) เป็นวิธีป้องกันโรคตับแข็งได้ด้วยการเลือกกินอาหารที่มีกรดไขมันชนิดโอเมก้า-3 เช่น ปลาทะเลน้ำลึก ปลาน้ำจืดบางชนิด ไข่แดง ถั่ว หรือเมล็ดธัญพืชต่างๆ เป็นต้น เพราะโอเมก้า-3 สามารถช่วยกระตุ้นให้การทำงานของอินซูลินดีขึ้น และช่วยลดโอกาสที่จะเกิดการอักเสบของเซลล์ตับ ที่เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ส่งผลให้เกิดตับแข็งได้5
ลดการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว
ลดการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เป็นวิธีป้องกันโรคตับแข็ง ที่จะช่วยดูแลสุขภาพตับ และป้องกันการอักเสบของตับ ที่เกิดจากการสะสมของไขมัน เพราะการกินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว เช่น ของทอด หรืออาหารที่มีไขมันสูง จะส่งผลให้ไขมันในเลือดสูง จนเกิดการสะสมที่ตับ และนำไปสู่การเป็นโรคไขมันพอกตับ ที่ทำให้ตับเกิดการอักเสบเรื้อรัง และกลายเป็นโรคตับแข็งได้ในที่สุด4
ลดการกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลฟรุกโตส
ลดการกินอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลฟรุกโตส เพราะเป็นวิธีที่สามารถช่วยป้องกัน และลดโอกาสการเกิดตับแข็งได้เป็นอย่างดี เพราะว่าน้ำตาลฟรุกโตส สามารถเปลี่ยนเป็นไขมัน แล้วไปสะสมที่ตับได้ และยังช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้ ที่ล้วนแต่เป็นสาเหตุ ที่ทำให้ตับเกิดอาการอักเสบ และเป็นสาเหตุหลักในการเกิดโรคตับแข็ง5
ลดการดื่มแอลกอฮอล์
การลดแอลกอฮอล์ ด้วยการดื่มไม่เกินวันละ 1-2 แก้ว เป็นวิธีที่ช่วยลดโอกาสในการเกิดตับแข็งได้5 เพราะการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำในเวลานานๆ อาจส่งผลให้เกิดโรคพิษสุราเรื้อรังได้ รวมถึงยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นภาวะตับอักเสบเรื้อรัง ภาวะตับอักเสบเฉียบพลัน หรือโรคตับแข็งได้ด้วย6
เลี่ยงการกินอาหารแปรรูปหรืออาหารเก่าเก็บ
การหลีกเลี่ยงการกินอาหารแปรรูป หรืออาหารเก่าเก็บ เป็นวิธีการดูแลสุขภาพตับ ที่ช่วยป้องกัน และลดโอกาสในการเป็นตับแข็งได้ เพราะอาหารประเภทนี้มักมีปริมาณโซเดียมสูง และมีการปนเปื้อนของสารเคมี หรือสิ่งแปลกปลอมได้ เช่น สารก่อมะเร็ง หรือสารโลหะหนัก เป็นต้น แต่ถ้าหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรกินให้น้อยที่สุด หรือนานๆ ครั้งค่อยกิน6
เลี่ยงการกินอาหารที่มีสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin)
ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ที่เป็นสารเคมีมีพิษ หรือสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง โดยควรเลี่ยงการกินอาหารจำพวกวัตถุดิบทางการเกษตรที่นำมาแปรรูป เช่น ถั่วลิสงตากแห้ง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มันสำปะหลัง ปลาแห้ง กุ้งแห้ง กะปิ หรือผัก และผลไม้ตากแห้ง เป็นต้น7 เพราะสารอะฟลาทอกซินส่งผลให้เกิดอาการอักเสบของตับเรื้อรัง และทำให้เสี่ยงเป็นโรคตับแข็ง หรือมะเร็งตับได้5
สรุป
โรคตับแข็ง เป็นโรคที่ตับเกิดได้รับความเสียหายจากการอักเสบของตับเรื้อรัง โดยสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกกินอาหาร การใช้ชีวิตประจำวัน การดื่มแอลกอฮอล์ หรือระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายที่ผิดปกติ สำหรับอาการโรคตับแข็งนั้น จะยังไม่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดในช่วงแรก แต่จะเผยอาการโรคตับแข็งให้เห็นก็ต่อเมื่อเป็นขั้นรุนแรงแล้ว ดังนั้น จึงควรทำการป้องกัน และดูแลสุขภาพตับให้ดีก่อนที่จะสายเกินไป ด้วยการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ที่ช่วยบำรุง และป้องกันโรคตับแข็งได้ดี ทั้งนี้ ควรออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ และหลีกเลี่ยงการกินอาหาร หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่ส่งผลเสียต่อตับ เพื่อช่วยดูแลสุขภาพตับให้ดี และช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคตับแข็ง