ปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจกับการออกกำลังกายกันมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่หลายครั้งเราพบว่า มีความเชื่อหลายอย่างที่กลายมาเป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติในขณะออกกำลังกาย รู้หรือไม่ว่าความเชื่อที่เราได้ยินมานั้น ถูกต้องหรือไม่ วันนี้เราจึงรวบรวมความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการออกกำลังกายมาให้ดูกันว่ามีอะไรบ้าง

1. การวิ่งทำให้น่องใหญ่

ผู้หญิงหลายคนกลัวที่จะออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เนื่องจากเกรงว่าน่องจะใหญ่ แต่นั่นเป็นความเชื่อที่ผิดเพราะการที่กล้ามเนื้อจะมีขนาดใหญ่ได้นั้น จะต้องถูกฝึกด้วยน้ำหนักหรือการเวทเทรนนิ่งและใช้แรงต้านที่มาก จึงจะเพิ่มขนาดได้ แต่บางครั้งเราอาจพบว่าหลังการวิ่งออกกำลังกาย กล้ามเนื้อมีการขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับก่อนวิ่ง ไม่ต้องตกใจไป เพราะนั่นเป็นกระบวนการทางร่างกายที่กล้ามเนื้อจะขยายตัวเพื่อให้พร้อมต่อการออกกำลังกายครั้งนั้น เมื่อเวลาผ่านไปสักพักหลังจากหยุดออกกำลังกาย กล้ามเนื้อจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเช่นเดิม

false-beliefs-in-exercise-1.jpg

2. การเวทเทรนนิ่งทำให้มีกล้าม

เวทเทรนนิ่ง (Weight Training) หมายถึง การออกกำลังกายโดยการใช้แรงต้าน(Resistance Training) ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบอุปกรณ์ เช่น ดัมเบล บาร์เบล หรือในรูปแบบของการใช้น้ำหนักตัวเองเป็นแรงต้าน เช่น การซิทอัพ การลุกนั่ง หรือการวิดพื้น  เป็นต้น การออกกำลังกายด้วยการเวทเทรนนิ่งไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่ทำจะมีกล้ามเสมอไป เนื่องจากการที่ขนาดกล้ามเนื้อจะเพิ่มได้จะต้องใช้น้ำหนักที่มาก และยกจำนวนน้อยครั้ง ต้องใช้ท่าทางถูกต้อง พักผ่อนเพียงพอ และได้รับสารอาหารที่เหมาะสมเพียงพอกับการออกกำลังกายแต่ละครั้ง ในทางตรงกันข้าม หากยกน้ำหนักที่น้อยและยกจำนวนมากครั้ง จะทำให้กล้ามเนื้อกระชับ และเกิดความทนทานมากกว่า ดังนั้นจึงควรถามตัวเองก่อนว่าเราจะทำเพื่ออะไรและเลือกใช้น้ำหนักให้เหมาะสมกับความต้องการของเราจะดีที่สุด

false-beliefs-in-exercise-2.jpg

3. งดดื่มน้ำเพื่อฝึกความทนทาน

การงดดื่มน้ำขณะออกกำลังกายเป็นความเชื่อที่ผิดมหันต์ เนื่องจากขณะออกกำลังกาย ร่างกายจะระบายความร้อนออกจากร่างกาย ทั้งทางเหงื่อและการหายใจ ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำในร่างกายลดลง หากร่างกายขาดน้ำมากๆ จะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการออกกำลังกายลดลง ดังนั้น ขณะออกกำลังกายควรดื่มน้ำเมื่อรู้สึกกระหาย โดยค่อยๆ ดื่ม 1-2 อึกเมื่อรู้สึกหายกระหายน้ำแล้วให้หยุดดื่ม และไม่ควรดื่มน้ำในปริมาณมากเกินไปในครั้งเดียว เพราะจะทำให้แร่ธาตุในร่างกายถูกเจือจางอย่างรวดเร็วและเกิดอันตรายจากภาวะช็อคน้ำได้ (Hyponatremia)  ดังนั้นขณะออกกำลังกายจึงควรจิบน้ำเป็นระยะๆ ในปริมาณที่เหมาะสมดีกว่าการดื่มน้ำทีเดียวในปริมาณมากเมื่อรู้สึกกระหาย

false-beliefs-in-exercise-3.jpg

4. เหงื่อออกมากแสดงว่าเผาผลาญไขมันได้มาก

หลายคนเข้าใจว่าการออกกำลังกายที่หนัก มีเหงื่อออกมากๆ เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่านั่นคือการเผาผลาญพลังงานชั้นเยี่ยม แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากเหงื่อทำหน้าที่ในการช่วยร่างกายระบายความร้อนจากกิจกรรมที่ทำ ไม่ได้บ่งบอกถึงการเผาผลาญพลังงานแต่อย่างใด สิ่งที่จะบอกได้ว่าการออกกำลังกายครั้งนั้นเผาผลาญไขมันไปได้มากเท่าไร คือระดับความหนักของการออกกำลังกายที่ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจในระดับตั้งแต่ปานกลางขึ้นไปและมีระยะเวลาในการออกกำลังกายที่เหมาะสมต่อความหนักนั้น และรู้หรือไม่ว่า ในเหงื่อมีส่วนประกอบของน้ำถึง 99% และมีสารอื่นๆ อีกมากมายรวมๆ กันอยู่เพียง 1% เท่านั้น

false-beliefs-in-exercise-4.jpg

5. ยิ่งเจ็บยิ่งต้องออกกำลังกายส่วนนั้นซ้ำ

การออกกำลังกายที่หนักเกินพอดี หรือหนักกว่าที่ร่างกายจะรับได้ จะส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดการบาดเจ็บได้ เช่น โหมวิ่งในวันแรกหลังจากไม่ได้ออกกำลังกายมานาน วันต่อไปมักเกิดอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อตามมา ซึ่งมักมีการแนะนำว่าให้ไปออกกำลังกายซ้ำเพื่อให้หายเจ็บ ซึ่งขัดกับสรีรวิทยาของร่างกายอย่างมาก เพราะกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บนั้นกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวและปรับสภาพให้พร้อมรับงานที่หนักขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการฟื้นฟู 48 ชั่วโมง ดังนั้น เมื่อเกิดการบาดเจ็บ ควรพักการออกกำลังกายส่วนนั้นก่อน1 วัน จึงจะเริ่มออกกำลังกายส่วนนั้นได้อีกครั้ง เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ หรือเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อส่วนที่บาดเจ็บอยู่ นอกจากการหยุดพักแล้ว สิ่งที่สำคัญต่อการฟื้นฟูร่างกายอีกอย่างก็คือสารอาหารที่ได้รับหลังออกกำลังกาย ควรต้องเน้นกลุ่มโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ เพื่อช่วยซ่อมและฟื้นฟูอวัยวะส่วนนั้น

ความเชื่อที่ผิดๆ เหล่านี้อาจทำให้การออกกำลังกายดูเป็นเรื่องที่น่ากลัว และทำให้ไม่ชอบการออกกำลังกายได้ ดังนั้น หากคุณกำลังพบว่าตัวเองหรือคนรอบตัวมีความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับการออกกำลังกาย ควรทำความเข้าใจใหม่ เพื่อที่จะให้ออกกำลังกายได้อย่างสบายใจและถูกวิธีนั่นเอง

shop now