Gamma-aminobutyric acid (GABA) หรือ กาบา คือสารที่สมองใช้ในการสื่อสารกับระบบประสาท ซึ่งมักถูกเรียกว่า สารสื่อประสาทนั่นเอง โดยกาบา เป็นกรดอะมิโนที่ไม่ใช่โปรตีน โดยพบได้มากในข้าวกล้องหอมมะลิแดง

GABA ช่วยให้นอนหลับได้อย่างไร

หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ GABA มาบ้างแล้ว ปัจจุบันมักจะพบเห็นได้ในรูปแบบของอาหารเสริมกาบา ประโยชน์หนึ่งที่โดดเด่นของ GABA คือ มีสารสื่อประสาทที่ต้านทานความตึงเครียดและวิตกกังวล ช่วยให้สมองมีความผ่อนคลาย

จากผลการทดลองเกี่ยวกับการรับสารกาบา (GABA) กรดอะมิโนกลูตามีน (Glutamine) และกรดอะมิโนไกลซีน (Glycine) เข้าสู่ร่างกาย พบว่าช่วยลดการทำงานของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องความเครียด ความวิตกกังวล อาการหลงลืม และอาการสั่นกระตุกได้ กลไกการทำงานหลักๆ ของ GABA คือ การทำให้ภายในเซลล์ประสาทมีความเป็นลบ (ทำให้คลอไรด์อิออน เข้าเซลล์ประสาทมากขึ้น และขับโปแตสเซียมอิออนออก) ซึ่งเป็นภาวะที่ยากแก่การกระตุ้นเซลล์ประสาท ส่งผลให้เซลล์ประสาทเกิดการผ่อนคลาย ในทางการแพทย์จึงนำสาร GABA มาใช้ในการรักษาโรคทางระบบประสาทต่างๆ โดยเฉพาะ โรคนอนไม่หลับ โรควิตกกังวล เป็นต้น1

ประโยชน์อื่นๆ ของ GABA

คุณประโยชน์ของ GABA นอกจากจะช่วยในเรื่องของความผ่อนคลายของสมอง ที่ส่งผลต่อคุณภาพของการนอนหลับที่ดีขึ้น GABA ยังมีคุณประโยชน์อื่นๆ ต่อร่างกายอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมความดันโลหิต ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน บำบัดพิษสุราเรื้อรัง กระตุ้นความจำ ส่งเสริมการเรียนรู้ และยับยั้งเซลล์มะเร็ง ซึ่งการที่ร่างกายได้รับสาร GABA ที่เพียงพอก็จะลดความเสี่ยงในโรคเหล่านี้ได้ แต่หากร่างกายได้รับสาร GABA ในระดับต่ำ ก็อาจจะทำอาการที่เกี่ยวกับระบบประสาทแสดงออกมาได้มากกว่าเดิม เช่น อาการปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง หรือแม้กระทั่งปริมาณไขมันคอเลสเตอรอลในร่างกายที่เพิ่มขึ้น โดยไม่มีสารใดมายับยั้ง

กล่าวได้ว่าคุณสมบัติหลักๆ ของสาร GABA คือการยับยั้งชะลอสาเหตุของโรคต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งการทำงานของสาร GABA2 มีดังนี้

ควบคุมความดันโลหิตได้ดี

GABA มีคุณประโยชน์ในการช่วยลดภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่เกิดจากความดันโลหิตสูง เช่น อาการปวดศีรษะ รวมไปถึงลดโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากความดันโลหิตสูง เช่น โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจโต โรคไต และการเกิดโปรตีนในปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งจากการทดลองใช้นมเปรี้ยวที่มีส่วนผสมของ GABA กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง พบว่าค่าความดันโลหิตลดลงภายใน 2-4 สัปดาห์ และลดลงต่อเนื่องในระยะเวลา 12 สัปดาห์ นอกจากนั้นจากการทดลองติดตามผลให้กลุ่มตัวอย่างรับ GABA ปริมาณ 80 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ ปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างมีค่าความดันโลหิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญ1

ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน

GABA สามารถกระตุ้นการสร้างไลโปโทปิก (Lipotropic) ที่เป็นตัวช่วยป้องกันการเกาะตัวและการสะสมของไขมันในร่างกาย จากงานศึกษาของนักวิจัยเกาหลีใต้ ได้ทดลองให้กลุ่มตัวอย่างรับสาร GABA เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์ โดยไม่ออกกำลังกาย ผลปรากฏว่า GABA ช่วยลดไขมันในร่างกายและเพิ่มความกระชับของกล้ามเนื้อมากขึ้น3

บำบัดโรคพิษสุราเรื้อรัง

GABA นอกจากจะช่วยป้องกันการเพิ่มขึ้นของไตรกลีเซอไรด์และปริมาณคอเลสเตอรอลจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากแล้ว ยังเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดีที่ช่วยในการลดปริมาณของเอนไซม์ทำลายเซลล์ตับอีกด้วย GABA จึงเป็นสารที่ใช้สำหรับบำบัดป้องกันโรคต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับโรคพิษสุราเรื้อรังได้1

กระตุ้นความจำ ส่งเสริมการเรียนรู้

สาร GABA ช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวกับสารสื่อประสาท เช่น อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) พาร์กินสัน (Parkinson’s disease) และโรคความผิดปกติทางสมอง ไม่ว่าจะเป็น โรคหลงลืมและวิตกจริต สอดคล้องกับงานวิจัยในหนูทดลอง พบว่าการบริโภคข้าวกล้องงอกซึ่งมีปริมาณ GABA มากกว่าข้าวกล้องธรรมดาถึง 15 เท่า ช่วยป้องกันการทำงานสมองจากสารเบต้า-อะไมลอยด์เปปไทด์ (Bata-amyloid peptide) ที่ส่งผลต่อการลดประสิทธิภาพการทำงานของสมอง2

ยับยั้งเซลล์มะเร็ง

GABA มีคุณสมบัติหนึ่งที่ช่วยในการยับยั้งการกระจายตัวของเซลล์มะเร็ง ผลจากการทดลองควบคุมการให้สาร GABA ในเซลล์มะเร็ง Mouse leukemia L1210 เปรียบเทียบกับการไม่ให้สาร GABA พบว่า การให้สาร GABA สามารถยับยั้งการกระจายตัว และยังเพิ่มกระบวนการตายของเซลล์ (Apoptosis) ในเซลล์มะเร็งเหล่านี้ได้ด้วย จากผลการทดลองดังกล่าวจึงเป็นแนวทางในการพัฒนาโดยนำเอาสาร GABA มาใช้เพื่อการชะลอและยับยั้งเซลล์มะเร็งประเภทต่างๆ ไม่ให้เจริญเติบโตและลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้1

GABA พบได้จากที่ไหนบ้าง

สาร GABA พบอยู่ในอาหารหลายประเภท แบ่งเป็น อาหารประเภทหมัก และอาหารทั่วไป ได้แก่

  • อาหารหมัก เช่น กิมจิ ปลาหมักเกลือ เทมเป้ นมเปรี้ยว (นมควาย) ทุเรียนหมัก ชีส Zlatar ขนมปังแป้งซาวโดวจ์ เบียร์มัลเบอรี่ สาเก โยเกิร์ต เป็นต้น
  • อาหารทั่วไป เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวกล้องและข้าวกล้องงอก มะเขือเทศ ผักโขม ผักเคล บล็อคโคลี่ มันหวาน เห็ดชิตาเกะ เกาลัด ชาขาว เป็นต้น

นอกจากนั้น สาร GABA ยังนิยมกินในรูปแบบของอาหารเสริมกาบาด้วย เพราะในแต่ละวันร่างกายอาจรับสาร GABA ไม่เพียงพอ หรือมีความแปรปรวนในเรื่องของปริมาณ ดังนั้น การกินอาหารเสริมกาบาจึงเป็นอีกทางเลือกที่เหมาะสมกับชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ การกินอาหารเสริมกาบาควรจะเลือกผลิตภัณฑ์ที่มาจากสารอาหารธรรมชาติ หากเป็นสาร GABA สังเคราะห์ จะส่งผลเสียต่อร่างกายมากกว่า4

กินอาหารที่มี GABA อย่างไรให้ปลอดภัย

สำหรับการกินอาหารเสริม GABA อย่างไรให้ปลอดภัยนั้น มีคำแนะนำ ดังนี้

  • ควรกิน GABA ตอนท้องว่าง เพื่อให้ GABA สามารถทำงานได้รวดเร็วขึ้น
  • สำหรับผู้ที่มีอาการโรควิตกกังวลหรือโรคเครียดเรื้อรัง กิน GABA 1-3 เม็ด ในตอนเช้า และ 1-3 เม็ด ในตอนบ่าย
  • สำหรับผู้ที่มีอาการโรคนอนไม่หลับหรือต้องการพักผ่อน รับประมาณ GABA 1-3 เม็ด ในตอนเย็น และ 1-3 เม็ด ก่อนนอน หากมีอาการตื่นระหว่างนอนหลับสามารถกิน 1-3 เม็ด เพื่อช่วยให้สามารถนอนหลับได้ต่อเนื่อง
  • สาร GABA เมื่อกินไปแล้วจะออกฤทธิ์ภายใน 20 นาที ซึ่งสามารถกินได้ทุกวัน โดยไม่มีผลข้างเคียงในกรณีที่หยุดกิน5

กลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงการรับสาร GABA

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลมากเพียงพอเกี่ยวกับผลข้างเคียงของการรับสาร GABA ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย กลุ่มเสี่ยงที่ควรเลี่ยงการรับสาร GABA คือ ผู้ที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์และผู้ที่อยู่ในช่วงการให้นมบุตร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงใด ๆ จึงยังไม่ควรรับสาร GABA ในช่วงนี้

นอกจากนั้น ในผู้ที่กินอาหารเสริมกาบาเพื่อบรรเทาโรคที่เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูง ก็ควรต้องศึกษารายละเอียดคำแนะนำที่ปรากฏอยู่บนผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด พร้อมทั้งต้องปรึกษาและแจ้งแพทย์ผู้รักษาอยู่ด้วยถึงการกินอาหารเสริม GABA เพื่อที่แพทย์จะได้พิจารณาถึงการรักษาโรคให้มีความปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด6

สรุป

GABA เป็นสารอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ โดยเฉพาะการเป็น “สารสื่อประสาท” ช่วยต้านทานความตึงเครียด วิตกกังวล ทำให้สองมีความผ่อนคลาย สามารถนอนหลับพักผ่อนได้อย่างมีคุณภาพ ในทางการแพทย์นำเอาสาร GABA มาใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคเครียดเรื้อรัง โรควิตกกังวล โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้น

ปัจจุบันยังมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมกาบาผลิตออกมาเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการรับสาร GABA ในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกาย ซึ่งการกินอาหารเสริมกาบา สำหรับผู้มีโรควิตกกังวล เครียด จะกิน ในช่วงเช้าและบ่าย ส่วนผู้มีปัญหาทางด้านการนอนพักผ่อน ควรกินช่วงเย็นและก่อนนอน โดยการกินสาร GABA ในผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับความดันโลหิตสูงควรแจ้งแพทย์ผู้รักษาให้ทราบด้วย สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์และให้นมบุตรไม่ควรกิน GABA ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของร่างกายควรเลือกอาหารเสริมกาบาที่ผลิตจากสารอาหารธรรมชาติมากกว่าสารสังเคราะห์ เพื่อให้เกิดผลดีต่อร่างกายนั่นเอง

ข้อมูลอ้างอิง

  1. จันทรพร ทองเอกแก้ว. คุณประโยชน์ของสารกาบาที่มีต่อสุขภาพ. Thaijo.org. Retrieved 23 June 2023.  

  2. ฐานข้อมูลส่งเสริมและยกระดับคุณภาพสินค้า กาบา. Otop.dss.go.th. Retrieved 23 June 2023.  

  3. WebMD. Health Benefits of GABA. webmd.com. Reviewed 29 November 2022.

  4. Medicalnewstoday. What to know about GABA. medicalnewstoday.com. Publish 11 January 2023.

  5. Rutland physical therapy. Calm your nerves. Rutlandphysio.ca.  Publish 16 April 2018.Annie Stuart. GABA (Gamma-Aminobutyric Acid). webmd.com. Reviewed 5 September 2021.

shop now