ขิง ให้สารจินเจอรอล และโชกาออล ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน ลดอาการแพ้ท้อง เพิ่มน้ำนมให้กับคุณแม่หลังคลอด พร้อมด้วยสรรพคุณลดความเสี่ยงมะเร็ง และสรรพคุณอื่นๆ อีกมากมาย หากกินอย่างถูกวิธี ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่แน่นอน

ทำความรู้จัก ขิง คืออะไร

ขิง คือพืชล้มลุกในไทย ลำต้นอยู่ใต้ดิน นิยมเรียกลำต้นว่า แง่งขิง ขิงกลายมาเป็นสมุนไพรพื้นบ้านเพราะหาได้ง่าย นำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู และมากไปด้วยสรรพคุณทางยาเพราะในขิงประกอบไปด้วยน้ำมันหอมระเหย และสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย (Zingiberene, Zingiberol, Gingerol, Shogaol)1 โดยขิงมีรสชาติหวาน แต่ให้ความรู้สึกเผ็ดร้อน สามารถนำมารับประทานสด นำไปประกอบอาหาร หรือทำน้ำขิงไว้จิบให้ชุ่มคอก็ได้เช่นกัน

13 สรรพคุณและประโยชน์ของน้ำขิง หรือขิงสด

ขิง มีสรรพคุณทางยา พร้อมด้วยประโยชน์มากมาย มาดู 13 ประโยชน์ของน้ำขิง และขิงสด ที่ผู้หญิงควรรู้

1. ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน

ขิงมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ ผู้ที่มีอาการคลื่นไส้อยู่บ่อยๆ หากรับประทานน้ำขิงที่อุดมไปด้วยสารจินเจอรอล (Gingerol) และโชกาออล (Shogaol) ที่ช่วยบรรเทา และต่อต้านอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้เป็นอย่างดี

2. ช่วยลดอาการปวดท้องประจำเดือน

สารจินเจอรอล และโชกาออล ที่มีอยู่ในขิง มีประโยชน์มากมายต่อผู้หญิง นอกจากจะช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนได้แล้ว ยังช่วยบรรเทาอาการปวดได้อีกด้วย โดยอาการปวดดังกล่าวนั้นรวมไปถึงอาการปวดประจำเดือน2 นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเผยว่าการดื่มน้ำชาขิง ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้ดีกว่าการดื่มชาสมุนไพรอื่นๆ อีกด้วย

ให้ผู้หญิงสุขภาพดี
มั่นใจในทุกๆ วัน

3. ขับลม แก้ท้องอืด

อีกหนึ่งประโยชน์ดีๆ ของขิงที่ไม่ควรมองข้ามไป คือสรรพคุณช่วยขับลม และแก๊สภายในร่างกาย แก้ท้องอืดได้เป็นอย่างดี การรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของขิง หรือจิบน้ำขิง ทำให้ร่างกายได้รับน้ำมันหอมระเหย สารสะกัดอะซีโตน จินเจอรอล และโชกาออล ที่มีส่วนช่วยในการขับลม แก้ท้องอืด3

4. เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันไข้หวัด

ขิงมีสารต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ขิงมีประโยชน์ในด้านการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันไข้หวัดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ฤทธิ์ร้อนของขิงยังมีสรรพคุณช่วยป้องกันไข้หวัดได้อีกด้วย

5. ชะลอความแก่

การแก่ชราเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากอายุที่มากขึ้นแล้ว ผู้หญิงหลายๆ คนก็กังวลเกี่ยวกับผิวหนังที่เหี่ยวย่น ริ้วรอย พร้อมกับความหย่อนคล้อยที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ โดยปัญหาเหล่านี้เกิดจาก Elastase ที่สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ตามร่างกาย ขิง มีสารที่ช่วยป้องกัน Elastase ได้ ทำให้ช่วยชะลอปัญหาผิวหนังที่เกิดจากอายุที่มากขึ้นได้4

6. บรรเทาอาการท้องร่วง ท้องเสีย

จากการทดลองในปี 2007 และ 2015 พบว่าขิงมีประโยชน์ช่วยป้องกันแบคทีเรียที่ชื่อว่า อีโคไล ที่พบได้ในลำไส้ และแบคทีเรียตัวนี้เป็นต้นเหตุของอาการท้องร่วง นอกจากนี้ขิงยังมีสรรพคุณช่วยป้องกันการสะสมของของเหลวในลำไส้ ที่ส่งผลให้เกิดอาการท้องร่วงอีกด้วย5

7. บรรเทาปวดไมเกรน

อีกหนึ่งประโยชน์ของขิงสด คือช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนได้ จากการศึกษาพบว่าสารสกัดที่ได้จากขิงสด ช่วยเพิ่มเซโรโทนินในสมอง โดยสารเซโรโทนินนี้เอง สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรนได้เช่นเดียวกับยาแก้ปวดไมเกรนที่จ่ายยาโดยแพทย์6

8. ต้านไวรัส

การกินขิง ไม่ว่าจะเป็นการกินขิงสด ดื่มน้ำขิง หรือแม้กระทั่งการกินอาหารเสริมที่มีขิงเป็นส่วนประกอบ มีประโยชน์ในการต้านเชื้อไวรัสต่างๆ ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากขิง อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ และสารต้านการอักเสบ อีกทั้งยังลดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้อีกด้วย7

9. บรรเทาข้อเข่าเสื่อม

สารจินเจอรอล และโชกาออล ที่มีอยู่ในขิง ช่วยบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อมได้เป็นอย่างดี ทำให้ในหมู่นักกีฬา และคนวัยชราที่มีความเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมมากกว่าผู้อื่น นิยมกินขิง ไม่ว่าจะเป็นการนำไปประกอบอาหาร นำมาจิบ หรือแม้กระทั่งกินผ่านอาหารเสริม

10. เพิ่มน้ำนมในคุณแม่หลังคลอด

รสร้อนจากขิง มีสรรพคุณช่วยให้คุณแม่เจริญอาหารหลังคลอด พร้อมทั้งย่อย และดูดซึมสารอาหารได้ดีมากยิ่งขึ้น ทำให้น้ำนมเพิ่มขึ้นมากอีกด้วย คุณแม่บางคนจึงนิยมจิบน้ำขิงแทนน้ำเปล่า หรือกินขิงเป็นอาหารเสริม เพื่อให้เจริญอาหาร และมีน้ำนมเพิ่มมากขึ้น8

ให้ผู้หญิงสุขภาพดี
มั่นใจในทุกๆ วัน

11. บรรเทาอาการอักเสบ

จากงานวิจัยพบว่า ขิงมีสารประกอบจากธรรมชาติมากกว่า 400 ชนิด พร้อมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระถึง 40 ชนิด จึงมีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการอักเสบได้เป็นอย่างดี9

12. ควบคุมน้ำหนัก ต้านเบาหวาน

ขิง มีสรรพคุณช่วยปรับปรุงระดับไขมันในเลือดได้ ทำให้สามารถป้องกันเบาหวาน หรือคนที่เป็นเบาหวานประเภทที่สองก็สามารถกินขิงในมื้ออาหารได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น10 นอกจากนี้ในกลุ่มคนที่กำลังควบคุมน้ำหนัก เพราะมีส่วนช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญ11

13. ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

มะเร็ง เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมในผู้หญิง อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยพบว่าสารจินเจอรอลในขิง มีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้ นอกจากนี้ยังพบอีกว่าอาการอักเสบ มีส่วนที่ทำให้เกิดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม ดังนั้นการกินขิงที่มีทั้งส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงมะเร็ง และบรรเทาอาการอักเสบ จะช่วยป้องกันมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมได้อย่างดี9

ควรกินขิงตอนไหนดี

แม้ว่าขิง จะเป็นสมุนไพรมากสรรพคุณคู่ใจผู้หญิง แต่การกินขิง ไม่ว่าจะเป็นการนำไปประกอบอาหาร การดื่มน้ำขิง และการกินขิงเป็นอาหารเสริม ควรกินในปริมาณที่พอเหมาะ และในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ได้รับประโยชน์ และสรรพคุณของขิงได้อย่างเต็มที่ พร้อมป้องกันผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดหากกินขิงมากเกินไป สามารถทำได้ดังนี้

กินขิงเป็นอาหารเสริม

การกินขิงเป็นอาหารเสริม เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรกินไม่เกิน 3-4 กรัมต่อวัน หรือในหญิงตั้งครรภ์ ไม่ควรเกิน 1 กรัมต่อวัน12 โดยกินพร้อมมื้ออาหารวันละ 1 ครั้ง เพื่อให้ร่างกายดูดซับสารอาหารขณะย่อยไปพร้อมกัน

กินขิงผ่านมื้ออาหาร

การกินขิงสดผ่านมื้ออาหาร ควรกินประมาณหนึ่งช้อนชา และนำไปเป็นเครื่องเคียงประกอบมื้ออาหารได้เลย โดยสามารถกินในมื้อใดก็ได้ตามความสะดวก

กินขิงเป็นเครื่องดื่ม

เทน้ำ 4 ถ้วย ลงในหม้อขนาดกลาง และนำขิงมาปอกเปลือก หั่นบางๆ 2 ช้อนโต๊ะ นำไปต้มในน้ำอย่างน้อย 10 นาที หากชอบน้ำขิงที่เข้มข้น สามารถหั่นขิงเติมลงไป แล้วต้มน้ำให้เดือดนานขึ้นได้ จากนั้นเติมน้ำผึ้ง มะนาว ตามชอบ ดื่มได้ทั้งร้อนและเย็น ควรกินในยามท้องว่าง14

ข้อควรระวังในการกินขิง และดื่มน้ำขิง

แม้ขิงจะเป็นสมุนไพรมากสรรพคุณ แต่ในคนบางกลุ่มก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงการกินขิง เช่นในกลุ่มสตรีมีครรภ์ที่อยากกินขิงเพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากอาการแพ้ท้อง ก็ควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ขิงยังมีส่วนช่วยในการยับยั้งการแข็งตัวของเลือด หากใครที่กำลังบริโภคยาสลายลิ่มเลือดอยู่ ควรหลีกเลี่ยงการกินขิงไปก่อน เพราะอาจเกิดอาการห้อเลือดและเลือดออกได้ง่าย และการกินขิงที่มากเกินไปยังทำให้เกิดแผลในปาก จึงควรกินขิงในปริมาณที่เหมาะสม13

ให้ผู้หญิงสุขภาพดี
มั่นใจในทุกๆ วัน

สรุป

ขิง เป็นสมุนไพรที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างช้านาน พร้อมด้วยสรรพคุณมากมายที่ได้จากสารต่อต้านอนุมูลอิสระ และสารประกอบจากธรรมชาติที่ได้จากขิง ซึ่งมีประโยชน์มากมายต่อร่างกาย โดยเฉพาะในผู้หญิง ที่ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน คลื่นไส้อาเจียน และช่วยเพิ่มน้ำนมให้คุณแม่หลังคลอดได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ควรกินขิงในประมาณที่พอเหมาะ และหากกังวลว่าจะมีอาการแทรกซ้อนหากกินขิง ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อให้ได้ประโยชน์จากขิงมากที่สุด และไร้กังวลเรื่องผลข้างเคียง

ข้อมูลอ้างอิง
  1. กองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. ขิง. thaicam.go.th. (No date). Retrieved on 19 October 2023.
  2. NICOL NATALE. The 6 Best Tea for Reducing Menstrual Cramps, According to Experts. Prevention.com. Published 30 December 2021. Retrieved on 19 October 2023.
  3. Johns Hopkins. Ginger Benefits. Hopkinsmedicine.org. (No date). Retrieved on 19 October 2023.
  4. Mehtap Ozkur, et al. Ginger for Healthy Ageing: A Systematic Review on Current Evidence of Its Antioxidant, Anti-Inflammatory, and Anticancer Properties. ncbi.nlm.nih.gov. Published 4 September 2018. Retrieved on 9 May 2022.
  5. Debra Rose Wilson, Ph.D. Can Ginger Treat Diarrhea?. healthline.com. Published 4 September 2018. Retrieved on 19 October 2023.
  6. Debra Rose Wilson, Ph.D. Can Ginger Help Relieve Headaches and Migraine?. healthline.com. Published 30 April 2019. Retrieved on 19 October 2023.
  7. Hello คุณหมอ. น้ำขิง กับประโยชน์ในการเสริมภูมิป้องกันโควิด. hellokhunmor.com. Published 25 July 2023. Retrieved on 19 October 2023.
  8. หมอชาวบ้าน. อาหารและสมุนไพร กระตุ้นน้ำนม. doctor.or.th. Published 1 November 2008. Retrieved on 19 October 2023.
  9. George P.H. Leung. Effect of Ginger on Inflammatory Diseases. ncbi.nlm.nih.gov. Published 25 October 2023. Retrieved on 19 October 2023.
  10. MedicalNewsToday. Can people living with diabetes safely consume ginger?. medicalnewstoday.com. Published 9 August 2023. Retrieved on 19 October 2023.
  11. Amanda MacMillan. How Ginger Fights Body Fat. time.com. (No date). Retrieved on 19 October 2023.
  12. Drugs.com. Ginger. Drugs.com. Published 12 January 2023. Retrieved on 19 October 2023.
  13. สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดปัตตานี. ‘ขิง’ ประโยชน์และโทษที่คาดไม่ถึง. opsmoac.go.th. Published 12 July 2021. Retrieved on 19 October 2023.
  14. Zilpah Sheikh. Health Benefits of Ginger and Ginger Water. webmd.com. Published 17 August 2023. Retrieved on 11 November 2023.
shop now