จุลินทรีย์กระจายตัวอยู่ทั่วร่างกายมนุษย์โดยเฉพาะในระบบทางเดินอาหารอย่างลำไส้ ที่มีกว่า 5,000 ชนิด การรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกาย จึงมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักอย่างเห็นผล พร้อมลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วน และโรคเบาหวานได้อีกด้วย

จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร (Gut Microbiome) คืออะไร

ในร่างกายของคนเรามีเซลล์ของจุลินทรีย์ถึง 100 ล้านล้านเซลล์ โดยจะมีเซลล์มนุษย์ที่แท้จริงเพียง 30 ล้านเซลล์เท่านั้น ส่วนที่เหลือคือ เซลล์ของจุลินทรีย์ หรือจุลชีพ (Microorganism) ที่จะกระจัดกระจายอยู่ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งในบริเวณช่องปาก ช่องคลอด ระบบทางเดินอาหาร และผิวหนัง เป็นต้น

ระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะในส่วนของลำไส้ เป็นจุดที่มีจุลินทรีย์มากที่สุด โดยมีเซลล์จุลินทรีย์กว่า 5,000 ชนิด ประกอบไปด้วยแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และปรสิต ทั้งหมดอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน เมื่อจุลินทรีย์ในลำไส้ไม่สมดุล ร่างกายก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรค เนื่องจากจุลินทรีย์บางชนิดมีส่วนช่วยในการป้องกันโรค เสริมระบบภูมิคุ้มกัน กระตุ้นการเผาผลาญ ย่อยอาหาร หรือมีส่วนช่วยในการขับถ่ายให้เป็นปกติ1

ประเภทของจุลินทรีย์

ประเภทของจุลินทรีย์

จุลินทรีย์มีอยู่ด้วยกันมากมายหลายพันชนิด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จุลินทรีย์จะมีทั้งประโยชน์และโทษ จุลินทรีย์ในลำไส้ หรือ Gut Microbiome จึงสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้

จุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย

จุลินทรีย์บางชนิดให้โทษแก่ร่างกาย สามารถสร้างสารพิษและก่อให้ร่างกายเกิดโรคต่างๆ ได้ ตัวอย่างเช่น เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori) ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร รวมถึงเพิ่มโอกาสเป็นเนื้องอก หรือมะเร็งในกระเพาะอาหารอีกด้วย 

นอกจากนี้จุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่บางชนิดก็มีความเกี่ยวข้องกับอาการลำไส้อักเสบเรื้อรัง จนไปถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่ อีกทั้งยังส่งผลกระทบในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคไขมันพอกตับ โรคตับแข็ง และมะเร็งตับ1

จุลินทรีย์ที่ส่งเสริมสุขภาพ

จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เอาไว้ยับยั้งและป้องกันแบคทีเรียตัวร้ายที่ก่อให้เกิดโรค เช่น Lactobacillus หรือ Eubacteria / Bifidobacteria จุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันเชื้อโรค กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยดูดซึมสารอาหาร และสังเคราะห์สารอาหารที่เป็นประโยชน์1

ประโยชน์ของโพรไบโอติก จุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกาย

จุลินทรีย์มีประโยชน์มากมายหลายประการ โดยเฉพาะ โพรไบโอติก (Probiotics) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียที่อาศัยอยู่มากในลำไส้ใหญ่ และส่วนอื่นๆ เช่น ช่องปาก ผิวหนัง ช่องคลอด และระบบทางเดินปัสสาวะ 

  • สร้างกรดแล็กทิก (lactic acid) ที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค
  • ลดระดับคอเลสเตอรอลไม่ดีในเลือด เช่น ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride)
  • ผลิตกรดอินทรีย์ที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ลดอาการท้องผูก ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานปกติ
  • เพิ่มการดูดซึมแคลเซียมในกระบวนการย่อยอาหาร
  • ผลิตวิตามินชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิตามิน B1, B2, B6, B12 และ biotin (วิตามิน H)
  • เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
  • ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้เซลล์บุผนัง เพื่อป้องกันแบคทีเรียชนิดไม่ดีเข้าสู่กระแสเลือด
  • เพิ่มการเผาผลาญของร่างกาย
  • ช่วยในการดูดซึมสารอาหารและยา2,3

เมื่อไมโครไบโอมไม่สมดุล จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

เมื่อไมโครไบโอมไม่สมดุล จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

ถ้าหากอาณาจักรของจุลินทรีย์ หรือไมโครไบโอมไม่สมดุล จะส่งผลเสียมากมายต่อร่างกาย ทั้งด้านอารมณ์ เช่น อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า รวมไปถึงผลกระทบต่อร่างกายอย่างภาวะอ้วน โรคผิวหนังชนิดต่างๆ ตลอดจนนำไปสู่โรคร้ายที่กระทบต่อสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคอื่นๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้1

ลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome)

จุลินทรีย์ในลำไส้จำพวกแบคทีเรียมีส่วนช่วยสำคัญในการย่อยอาหาร ปกป้องผนังลำไส้ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นหากเกิดความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้อาจส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของระบบทางเดินอาหาร รวมถึงการซึมผ่านลำไส้ไม่ดี ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่ายกาย จนทำให้เกิดการอักเสบและนำไปสู่อาการลำไส้รั่วได้ 

อาการลำไส้รั่ว เป็นภาวะที่ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมได้อย่างเป็นปกติ ทำให้สิ่งแปลกปลอมหลุดรอดเข้ามาในร่างกาย และรบกวนระบบภูมิคุ้มกัน ก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ เช่นปวดหัว น้ำหนักขึ้น แก๊สในกระเพาะอาหารมากผิดปกติ พร้อมด้วยอาการอื่นๆ อีกมากมาย4

โรคเบาหวาน

ประโยชน์ของจุลินทรีย์ที่หลายคนอาจจะไม่คาดคิดคือ จุลินทรีย์ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานได้ ถ้าสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ถูกรบกวนจากการกินอาหารบางประเภท หรือการกินอาหารซ้ำๆ จนจุลินทรีย์ได้รับสารอาหารที่จำเป็นไม่ครบถ้วน ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงการหลั่งของสารเมตาบอไลต์ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติ จนนำไปสู่การดื้อต่ออินซูลิน และเป็นโรคเบาหวานในที่สุด1,5

โรคอ้วน และกลุ่มอาการผิดปกติในระบบเผาผลาญ

จุลินทรีย์ในลำไส้มีบทบาทสำคัญในการดึงพลังงานจากอาหารผ่านกระบวนการต่างๆ โดยมีผลการวิจัยบอกว่าจุลินทรีย์ในลำไส้ส่งผลต่อลักษณะของฟีโนไทป์ที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน และส่งผลต่อการสะสมพลังงานในเซลล์ไขมัน ถ้าหากเกิดภาวะความไม่สมดุลของจุลินทรีย์ ร่างกายจะเพิ่มการดูดซึมพลังงานและการสะสมของกรดไขมันเส้นสั้นมากเกินไป ทำให้เพิ่มความอยากอาหาร เพิ่มการกักเก็บของไขมัน และระบบการเผาผลาญเกิดการทำงานผิดปกติ6,7

ท้องเสียจากเชื้อคลอสตริเดียม ดิฟฟิไซล์

แบคทีเรียคลอสตริเดียมดิฟฟิไซล์ (Clostridium difficile) คือแบคทีเรียที่จะเพิ่มจำนวนขึ้น หากจุลินทรีย์ในลำไส้ไม่สมดุล เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดสารพิษในลำไส้ นำไปสู่อาการท้องเสีย และลำไส้อักเสบได้8

โรคลำไส้แปรปรวน

หากจุลินทรีย์ในลำไส้ไม่สมดุล อาจทำให้ภูมิคุ้มกันของลำไส้ทำงานผิดปกติ จนเกิดการอักเสบเฉียบพลัน เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต การเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้เล็กที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ในระบบทางเดินอาหาร ไม่ว่าจะเป็นในด้านการดูดซึม การเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร กระบวนการย่อยของกรดน้ำดี และความสามารถในการซึมผ่านเยื่อบุผิวในลำไส้ จนทำให้เป็นโรคลำไส้แปรปรวนได้9

โรคหัวใจและหลอดเลือด

จุลินทรีย์ไม่ดีหลายชนิด เช่น Chlamydophila pneumoniae, Porphyromonas gingivalis, Helicobacter pylori, ไวรัสไข้หวัดใหญ่ A, ไวรัสตับอักเสบ C, Cytomegalovirus และไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องของมนุษย์ จะเพิ่มจำนวนขึ้น หากจุลินทรีย์ดีหายไปจากระบบ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด การติดเชื้อเหล่านี้มีส่วนทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว อีกทั้งยังทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบและเป็นโรคหลอดเลือดแดงตีบตามมา 10

โรคลำไส้อักเสบ

เมื่อจุลินทรีย์ดีในลำไส้ลดลงเยอะจนไมโครไบโอมไม่สมดุล อาจทำให้ลำไส้ใหญ่บวมเป็นแผล เกิดการอักเสบ ระบบภูมิคุ้มกันของเยื่อเมือกในลำไส้ทำงานได้ไม่ดี เพิ่มโอกาสการติดเชื้อในทางเดินอาหาร และนำไปสู่โรคลำไส้อักเสบได้11

การสังเคราะห์กรดไขมันสายสั้นผิดปกติ

จุลินทรีย์ที่ดี ช่วยย่อยกรดไขมันเส้นสั้นที่ได้จากอาหารจำพวกพืช ที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้เอง โดยจุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่นี้คือแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ที่มีชื่อว่า แบคทีรอยดิส (Bacteroides) มีงานวิจัยพบว่ากรดไขมันเส้นสั้นช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด ถ้าหากจุลินทรีย์ในลำไส้เกิดความไม่สมดุลจะทำให้เกิดการสังเคราะห์กรดไขมันสายสั้นผิดปกติ ความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวก็จะสูงขึ้น12

สาเหตุที่ทำให้จุลินทรีย์ (ไมโครไบโอม) ในลำไส้ไม่สมดุล

การที่จุลินทรีย์ในลำไส้ไม่สมดุล เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากการกินอาหารหวานจัด เค็มจัด เผ็ดจัด หรือได้รับสารเคมีตกค้างจากผักผลไม้ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การใช้ยาปฏิชีวนะ ดูแลสุขภาพช่องปากไม่ดี ความเครียด ความวิตกกังวล การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันทำให้มีโอกาสรับเชื้อแบคทีเรียที่อันตราย รวมถึงอายุที่มากขึ้นก็อาจเพิ่มความเสี่ยงได้เช่นกัน 13,14

ทำอย่างไรให้จุลินทรีย์กลับมาสมดุล

ทำอย่างไรให้จุลินทรีย์กลับมาสมดุล

  • กินอาหารเสริมโพรไบโอติก เพื่อเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ที่ดี
  • กินอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน
  • กินอาหารที่มีเส้นใยอาหาร อาหารประเภทหมักดอง หรืออาหารที่มีพรีไบโอติก
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยให้คลายเครียด ลดความวิตกกังวล15

สรุป

จุลินทรีย์บางชนิดมีประโยชน์ในการเสริมระบบภูมิคุ้มกัน กระตุ้นการเผาผลาญ ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ตามปกติ ช่วยป้องกันโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน โรคอ้วนโรคที่ติดเชื้อคลอสตริเดียม ดิฟฟิไซล์ โรคลำไส้แปรปรวน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคลำไส้อักเสบ ซึ่งถ้าหากไม่รักษาสมดุลของจุลินทรีย์ให้ดี จะทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ จุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายมีจำนวนมากขึ้น จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ ดังกล่าวได้

ข้อมูลอ้างอิง
  1. จิตแข เทพชาตรี. จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ไม่สมดุล เสี่ยงโรค. samitivejhospitals.com. Published 10 June 2022. Retrieved 4 February 2024.

  2. มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์. Probiotic จุลินทรีย์มีประโยชน์. food.bru.ac.th. Published 9 November 2021. Retrieved 4 February 2024.

  3. MedPark Hospital. โพรไบโอติกส์ (Probiotics) จุลินทรีย์นักรบช่วยปกป้องร่างกาย. medparkhospital.com. Published 20 October 2023. Retrieved 4 February 2024.

  4. Youssef (Joe) Soliman. What to know about leaky gut syndrome. medicalnewstoday.com. Published 22 October 2023. Retrieved 4 February 2024.

  5. Wei-Zheng Li. Gut microbiota and diabetes: From correlation to causality and mechanism. ncbi.nlm.nih.gov. Published 15 July 2020. Retrieved 4 February 2024.

  6. Cindy D. Davis. The Gut Microbiome and Its Role in Obesity. ncbi.nlm.nih.gov. Published 1 July 2017. Retrieved 4 February 2024.

  7. Bing-Nan Liu. Gut microbiota in obesity. ncbi.nlm.nih.gov. Published 7 July 2021. Retrieved 4 February 2024.

  8. Justyna Bien. The intestinal microbiota dysbiosis and Clostridium difficile infection: is there a relationship with inflammatory bowel disease?. ncbi.nlm.nih.gov. Published 6 January 2013. Retrieved 4 February 2024.

  9. Stacy Menees. The gut microbiome and irritable bowel syndrome. ncbi.nlm.nih.gov. Published 9 July 2018. Retrieved 4 February 2024.

  10. Marko Novakovic. Role of gut microbiota in cardiovascular diseases. ncbi.nlm.nih.gov. Published 26 April 2020. Retrieved 4 February 2024.

  11. Zhao-Hua Shen. Relationship between intestinal microbiota and ulcerative colitis: Mechanisms and clinical application of probiotics and fecal microbiota transplantation. ncbi.nlm.nih.gov. Published 7 January 2018. Retrieved 4 February 2024.

  12. William Fusco. Short-Chain Fatty-Acid-Producing Bacteria: Key Components of the Human Gut Microbiota. mdpi.com. Published 6 May 2023. Retrieved 4 February 2024.

  13. Saurabh Sethi. What Causes Dysbiosis and How Is It Treated?. healthline.com. Published 2 February 2019. Retrieved 4 February 2024.

  14. Dan Brennan. What Is Dysbiosis?. webmd.com. Published 6 December 2022. Retrieved 4 February 2024.ชุติมา ศิริดำรงค์. เมื่อจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารไม่สมดุล คุณจะเป็นอย่างไร. nakornthon.com. Retrieved 4 February 2024.

  15. ชุติมา ศิริดำรงค์. เมื่อจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารไม่สมดุล คุณจะเป็นอย่างไร. nakornthon.com. Retrieved 4 February 2024.

shop now