พฤติกรรมการบริโภคของคนในปัจจุบันโดยเฉพาะในเขตเมืองเปลี่ยนแปลงไปมาก ผู้คนบริโภคอาหารที่มีกากใยน้อยลง ส่งผลให้กากอาหารค้างอยู่ในลำไส้ใหญ่และเน่าเปื่อย กลายเป็นที่เพาะเชื้อแบคทีเรียซึ่งสามารถสร้างพิษและส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคต่างๆ เพิ่มขึ้น อาทิ โรคระบบทางเดินอาหารผิดปกติ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ดังนั้น แม้ว่าเส้นใยจะไม่ถูกจัดเป็นสารอาหาร เพราะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเหมือนโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และเกลือแร่ แต่ก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่ร่างกายต้องได้รับจากการบริโภคอาหารแต่ละมื้อ เพื่อช่วยให้อวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์

เส้นใยอาหารได้จากผนังเซลล์ของพืชผักและผลไม้ซึ่งเอนไซม์ในระบบย่อยอาหารของมนุษย์ไม่สามารถย่อยได้ แต่เอนไซม์ของแบคทีเรียในลำไส้มนุษย์สามารถย่อยเส้นใยอาหารบางชนิดได้ โดยที่เส้นใยของพืชจะยังคงอยู่ในบริเวณลำไส้หลังจากสารอาหารอื่นถูกดูดซึมแล้ว เส้นใยอาหารแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. ประเภทที่ละลายน้ำ

ลักษณะของเส้นใยประเภทนี้มีลักษณะเป็น “เจล” พบมากในผักผลไม้ กัวร์กัม เมล็ดไซเลียม เป็นต้น คุณสมบัติเด่นของเส้นใยประเภทนี้คือ ช่วยดูดซึมโคเลสเตอรอลในทางเดินอาหารเมื่อรับประทานร่วมกับอาหาร นอกจากนี้ยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลด้วยกลไกการขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสโลหิตในทางเดินอาหารอีกด้วย เส้นใยอาหารประเภทที่ละลายน้ำ เช่น

  • เพคติน ทำหน้าที่ยึดเซลล์ละลายได้ในน้ำร้อนและกลายเป็นเจลเมื่อเย็นตัวลง มีคุณสมบัติในการจับแบคทีเรีย ทำให้เพคตินสามารถขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลที่ลำไส้เล็กได้
  • กัม พบเมื่อพืชเกิดบาดแผล
  • มิวซิเลซ พบในเมล็ดพืช เหมาะสำหรับเป็นยาระบาย

2. ประเภทที่ไม่ละลายน้ำ

คือ เส้นใยอาหารที่ได้จากผนังเซลล์ของพืชผักและผลไม้ต่างๆ โดยมีลักษณะต่างกัน มีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำได้ดี พบได้ในผักมากกว่าในเมล็ดธัญพืชและผลไม้ เส้นใยอาหารประเภทที่ไม่ละลายน้ำ เช่น

  • เซลลูโลส มีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำได้ดี พบได้ในผักมากกว่าในเมล็ดธัญพืชและผลไม้
  • เฮมิเซลลูโลส มีองค์ประกอบของน้ำตาลหลายชนิด พบเส้นใยนี้ในธัญพืช
  • ลิกนิน พบมากในผลไม้สุกหรือผลไม้ที่รับประทานทั้งเมล็ด

ด้วยคุณสมบัติของเส้นใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำทำให้สามารถดูดซับน้ำได้มาก และก่อให้เกิดการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ เพื่อเร่งการขับถ่ายของเสียและสารพิษต่างๆ ออกจากร่างกาย

คุณประโยชน์ของเส้นใยอาหารต่อสุขภาพ

1. เส้นใยอาหารกับโรคหัวใจและหลอดเลือด

การบริโภคอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูงจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นกลไกที่ส่งผลให้โคเลสเตอรอลเข้าสู่กระแสเลือดลดน้อยลง

2. เส้นใยอาหารกับโรคเบาหวาน

เส้นใยอาหารประเภทที่ละลายน้ำได้มีประสิทธิภาพดีในการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงมีผลในการช่วยลดระดับน้ำตาลและลดภาวะแทรกซ้อนจากระดับโคเลสเตอรอลอีกด้วย

3. เส้นใยอาหารกับการทำงานของลำไส้และลดความเสี่ยงของโรคถุงโป่งพองในลำไส้

สำหรับผู้ที่มีปัญหาท้องผูก หากเกิดขึ้นเป็นประจำจะก่อให้เกิดโรคถุงโป่งพองในลำไส้และทำให้เกิดการอักเสบที่ลำไส้ การบริโภคอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูงนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาท้องผูกแล้วยังช่วยบรรเทาอาการของผู้ที่เป็นโรคถุงโป่งพองในลำไส้ เนื่องจากจะไปกระตุ้นการขับถ่ายของเสียและสารพิษออกจากร่างกายนั่นเอง

ข้อมูลอ้างอิง
  1. ระเบียบ วาจานนท์ “กากหรือเส้นใยอาหาร”  โภชนาการสาร 15  2 ฉบับเดือนเม.ย.-มิ
  2. Bonnie Liebman, “Plant for Supper? 10 Reasons to eat more like a vegetarian”, Nutrition Action Health Utter, Oct 1996, www. Cspinet.org
  3. CSPI Report; International Foods, Public Health Born on 21st Century Quackery? Table 9, www.cspinet.org
shop now