โรคอ้วนสามารถเช็กได้จากค่า BMI ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสมส่วนของน้ำหนักกับส่วนสูงแบบคร่าวๆ ซึ่งอาจเกิดได้จากทั้งพฤติกรรมและพันธุกรรม ทั้งนี้ โรคอ้วน อาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้หลายมิติ

โรคอ้วน คืออะไร

โรคอ้วน (Obesity) คือ ภาวะน้ำหนักเกิน หรือเป็นภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันตามอวัยวะต่างๆ ในสัดส่วนที่มากเกินกว่าปกติ ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพมากขึ้น และยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ตามมาได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงความผิดปกติของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ส่งผลให้คุณภาพชีวิต และอายุขัยลดลงได้1

โรคอ้วน ดูยังไง?

โรคอ้วน ดูยังไง?

โรคอ้วนสามารถตรวจสอบได้หลายวิธี โดยวิธีที่นิยมคือการใช้เกณฑ์ดัชนีมวลกาย (Body mass index: BMI) และการวัดรอบเอว5 แต่อาจใช้ไม่ได้ในกลุ่มคนที่เป็นนักกีฬา ที่มีลักษณะมีมวลกายที่เป็นกล้ามเนื้อมากๆ เช่นนักกีฬาเพาะกาย ยกน้ำหนัก

ค่า BMI สามารถคำนวณได้จากการนำ น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง (kg/m²)

  • โดยทั่วไปควรมีค่า BMI อยู่ที่ 18.5 – 22.9 kg/m2 เรียกว่า “ปกติ”

  • ค่า BMI 23.0 – 24.9 kg/m² เรียกว่า “น้ำหนักเกิน”

  • ค่า BMI 25 kg/m² เรียกว่า “โรคอ้วน”

สาเหตุของการเกิดโรคอ้วน

โรคอ้วนมีสาเหตุหลักมาจากการได้รับแคลอรีในปริมาณที่มากเกินกว่าที่ร่างกายจะใช้ในแต่ละวัน ซึ่งถูกนำไปสะสมไว้ในรูปแบบของไขมัน ในระยะยาวจึงส่งผลให้เกิดโรคอ้วนได้1 ซึ่งโรคอ้วนไม่ได้เกิดจากสาเหตุเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังมีสาเหตุอื่นๆ ทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ดังนี้

ปัจจัยภายใน

ปัจจัยภายในที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคอ้วน เป็นปัจจัยที่ส่งผลมาจากภายในร่างกาย มีดังนี้

1. พันธุกรรม

พันธุกรรม หรือกรรมพันธุ์มีผลต่อโรคอ้วน เนื่องจากพันธุกรรมมีผลต่อการเผาผลาญพลังงาน และการสะสมไขมันของแต่ละบุคคล3 โดยผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคอ้วนมักมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนง่ายขึ้น

2. อายุที่เพิ่มมากขึ้น

อายุที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกาย ส่งผลให้มวลกล้ามเนื้อลดลงและอัตราการเผาผลาญพลังงานช้าลง ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ง่าย3

3. ความเครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ

การพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนและสมองส่วนที่ควบคุมความอยากอาหารได้ ทำให้รู้สึกหิวและต้องการกินอาหารที่มีแคลอรีสูงมากขึ้น นอกจากนี้ ความเครียดยังกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนที่ทำให้อยากอาหารมากขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้มีโอกาสที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นและเป็นโรคอ้วนได้ง่าย3

4. ระบบฮอร์โมนที่แปรปรวน

ร่างกายมีระบบฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมความหิว ความอิ่ม และการเผาผลาญพลังงาน เมื่อระบบฮอร์โมนแปรปรวน ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม พฤติกรรมการอดนอน ความเครียด การได้รับสารอาหารไม่เหมาะสม เป็นต้น ก็อาจส่งผลให้เกิดความอยากอาหารมากขึ้นโดยไม่จำเป็นได้6

5. การรับประทานยาบางชนิด

การกินยาบางชนิดเพื่อรักษาโรค อาจมีผลข้างเคียงทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ เช่น ยาต้านอาการซึมเศร้า สเตียรอยด์ ยากันชัก ยารักษาโรคเบาหวาน กลุ่มยาเบตาบล็อกเกอร์ (Beta Blockers)6 ที่ใช้รักษาภาวะหรือโรคหลายชนิด เช่น รักษาความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ฯลฯ การกินยาเหล่านี้ก็ส่งผลต่อการเกิดโรคอ้วนได้

6. ปัจจัยทางด้านจิตวิทยา

ปัจจัยทางด้านจิตวิทยา ไม่ว่าจะเป็นความเบื่อ ความเหงา ความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ซึ่งถือเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปในสังคมสมัยใหม่ สภาวะทางอารมณ์เหล่านี้ส่งผลทำให้อยากกินอาหารจนมากเกินความจำเป็นของร่างกาย เพื่อเป็นการบรรเทาความรู้สึกที่ไม่สบายใจต่างๆ นั่นเอง6

7. โรคบางชนิด หรือกลุ่มอาการต่างๆ

โรคบางชนิด หรืออาการผิดปกติบางกลุ่ม เช่น ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) หรือโรคอ้วนลงพุง, โรคข้อเข่าเสื่อม, กลุ่มอาการรังไข่หลายใบ (PCOS), กลุ่มอาการพราเดอร์-วิลลี่ (Prader-Willi), กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome), ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) ส่งผลต่อฮอร์โมนและการเผาผลาญของร่างกาย ที่มีส่วนทำให้น้ำหนักเพิ่มและมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วน3

ปัจจัยภายนอก

ปัจจัยภายนอกที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคอ้วน คือ ปัจจัยที่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและพฤติกรรมการกินอาหาร ดังนี้

1. พฤติกรรมในการกินอาหาร

พฤติกรรมในการกินอาหารของคนในปัจจุบัน มักนิยมกินอาหารกึ่งสำเร็จรูป หรืออาหารแปรรูปที่มีความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งอาหารเหล่านี้มักเป็นอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง แต่มีใยอาหารและสารอาหารอื่นๆ น้อย ส่งผลให้เกิดอาการเสพติดอาหาร และพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่ดี ทำให้เกิดโรคอ้วนได้ง่าย นอกจากนี้ ยังมีผลมาจากการที่อาหารเพื่อสุขภาพค่อนข้างเข้าถึงได้ยาก ทั้งในเรื่องของราคา เวลาที่จำกัด และความยากในการหาอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ6

2. พฤติกรรมในการใช้ชีวิต

พฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การใช้ชีวิตหน้าจอมือถือหรือคอมพิวเตอร์ที่มากขึ้น ทั้งการทำงาน การติดต่อสื่อสาร การซื้อของออนไลน์ การใช้เวลาดูซีรีส์ หรือสื่อสตรีมมิ่งที่มากขึ้น ทำให้การเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย หรือการออกไปนอกบ้านน้อยลง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนมากขึ้น6

เป็นโรคอ้วน เสี่ยงยังไง?

คนที่เป็นโรคอ้วนอาจทำให้เกิดอาการ หรือความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆ ตามมา ดังนี้

  • ฮอร์โมนและเมตาบอลิค – ความดันโลหิตสูง เบาหวานชนิดที่สอง ไขมันในเลือดสูง

  • สมอง – โรคซึมเศร้า วิตกกังวล หงุดหงิดง่าย โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤต อัมพาต

  • คอ – นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive sleep apnea; OSA)

  • ระบบการหายใจ – หอบหืด เหนื่อยง่าย ความดันปอดสูง

  • ระบบไหลเวียนโลหิต – โรคหัวใจ เช่น หัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย

  • ทางเดินอาหาร – ไขมันเกาะตับ นิ่วในถุงน้ำดี มะเร็งตับ มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งลำไส้

  • ทางเดินปัสสาวะ – ปัสสาวะติดเชื้อบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่ได้

ผลกระทบทางตรงต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย4

  • ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง – ถุงน้ำรังไข่ ประจำเดือนผิดปกติ ภาวะมีบุตรยาก มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก

  • ระบบสืบพันธุ์เพศชาย – มะเร็งต่อมลูกหมาก

  • กระดูกและข้อ – ปวดข้อ ข้อเสื่อมก่อนวัย โดยเฉพาะข้อรองรับน้ำหนัก เช่น หลัง สะโพก เข่า ข้อเท้า

  • ผิวหนัง – สิว ขนดก ผิวหนังติดเชื้อ อักเสบ เป็นฝีบ่อย เชื้อรา มีกลิ่นตัว

วิธีลดน้ำหนักให้ห่างไกลจากโรคอ้วน

วิธีที่เหมาะสมสำหรับการลดน้ำหนัก เพื่อไม่ให้เป็นโรคอ้วนมีอยู่ 6 วิธี ดังนี้

image.png

1. เลือกประเภทของอาหารที่รับประทาน

การเลือกประเภทอาหารในการกิน ถือว่ามีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของการลดน้ำหนัก และหลีกเลี่ยงภาวะโรคอ้วน ควรมีการเลือกและควบคุมอาหาร โดยลดการกินอาหารที่มีไขมันสูง และเพิ่มการกินผัก ผลไม้ อาหารที่มีกากใยอาหาร สารอาหาร แร่ธาตุที่มีประโยชน์แทน จะช่วยลดไขมันและทำให้รู้สึกอิ่มได้เร็วขึ้น6

2. จัดการกับความเครียด

การจัดการความเครียดช่วยในเรื่องการควบคุมความอยากอาหารได้ หากมีความเครียดน้อยลงจะช่วยลดความอยากอาหาร และลดการอยากกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ลงได้

การทำกิจกรรมให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว

3. การทำกิจกรรมให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว

หากไม่อยากเป็นโรคอ้วน ควรเพิ่มการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเดิน การเคลื่อนไหว หรือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยในการเผาผลาญไขมันในร่างกาย ทั้งช่วยลดน้ำหนัก และทำให้สุขภาพดีขึ้น6

4. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกิน

วิธีหลีกเลี่ยงโรคอ้วน คือการเริ่มปรับเปลี่ยนนิสัยในการกิน โดยการค่อยๆ ลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ กินอาหารเช้าเป็นประจำ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง งดการกินขนมของกินเล่นจุกจิก เพิ่มอาหารประเภทโปรตีน และผักผลไม้หลากสี

5. ปรับทัศนคติในการลดน้ำหนัก

ทัศนคติมีผลต่อการลดน้ำหนัก ผู้ที่มีทัศนคติที่ดีจะเชื่อมั่นในการลดน้ำหนัก ทั้งในเรื่องของการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด และการพักผ่อน

6. การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนัก เนื่องจากการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอมีผลทำให้ฮอร์โมนแปรปรวน เกิดความอยากอาหารประเภทแป้งและหิวมากกว่าปกติ อีกทั้งยังส่งผลให้ระบบการเผาผลาญพลังงานทำงานได้น้อยลง ร่างกายมีการสะสมไขมันเพิ่มขึ้น

สรุป

โรคอ้วน (Obesity) คือภาวะน้ำหนักเกิน หรือภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันที่มากเกินกว่าปกติ สามารถสังเกตตัวเองได้จากการวัดผลจากค่า BMI โดยโรคอ้วนมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ซึ่งการเป็นโรคอ้วนส่งผลให้มีผลเสียตามมาหลายอย่าง ทั้งความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพและเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ จึงควรลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคอ้วนและมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

shop now