การออกกำลังกายถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่การออกกำลังกายมากเกินไปก็จะเป็นผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกันเราเรียกสภาวะนี้ว่า Overtraining หรือการฝึกมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายหยุดการเจริญเติบโต เกิดความเมื่อยล้ามากกว่าปกติ และที่แย่ที่สุดคือทำให้ประสิทธิภาพการออกกำลังกายลดลง ไม่มีความก้าวหน้า โดยเฉพาะกลุ่มของนักกีฬาจะเห็นได้ชัดเจนมาก ข้อสังเกตของการเกิดภาวะ Overtraining มีอะไรบ้าง ลองไปดูกันว่าเราเข้าข่ายนี้หรือไม่

overtraining-1.jpg

1. นอนไม่หลับ

การฝึกที่มากเกินไปจะส่งผลให้ระบบฮอร์โมนและระบบประสาทในร่างกายเกิดความแปรปรวน ถึงแม้วันนั้นคุณจะรู้สึกเหนื่อยล้าหลังจากออกกำลังกายมาจนรู้สึกอยากนอนพักเต็มที่ แต่การฝึกที่มากเกินไปจะส่งผลให้เกิดอาการนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ทั้งนี้การนอนหลับในช่วง 4 ทุ่ม - ตี 2 เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ร่างกายจะได้ฟื้นฟูร่างกายอย่างเต็มที่ โดย ไมค์ ดัฟฟี่ เทรนเนอร์มืออาชีพแนะนำว่า “ร่างกายจะเกิดการพัฒนาในขณะที่ทำการพักผ่อน ไม่ใช่การฝึก” ดังนั้น การฝึกที่มากเกินไป นอกจากจะส่งผลให้นอนไม่หลับแล้ว เท่ากับร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอด้วย

overtraining-2.jpg

2. ประสิทธิภาพในการออกกำลังกายลดลง

การฝึกที่มากเกินไปจะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการออกกำลังกายลดลง สังเกตได้จากผลการทดสอบร่างกายหรือความสามารถของร่างกายจะลดลง เช่น วิ่งได้น้อยลงกว่าเดิมและรู้สึกเหนื่อยกว่าปกติ ยกน้ำหนักได้จำนวนครั้งลดลง เช่น จากเดิมเคยยกได้ 10 ครั้ง ก็จะเหลือเพียง 8-9 ครั้ง โดยอาการเหล่านี้จะส่งผลเสียอย่างมากต่อกลุ่มของนักกีฬาหรือกลุ่ผู้ที่ต้องการฝึกร่างกายอย่างมีเป้าหมาย สาเหตุเกิดจากการฝึกมากเกินไปและร่างกายฟื้นตัวไม่ทัน ไม่พร้อมที่จะออกกำลังกายในครั้งต่อไป ส่งผลให้ประสิทธิภาพแย่ลงเรื่อยๆ นั่นเอง

overtraining-3.jpg

3. รู้สึกไม่สบาย ไม่สดชื่นแจ่มใส

การออกกำลังกายเป็นประจำทำให้ร่างกายสดชื่น กระปรี้กระเปร่า แต่การฝึกมากเกินไปจะส่งผลตรงกันข้าม ร่างกายจะไม่ค่อยสบาย ไม่สดชื่นแจ่มใส สาเหตุเนื่องจากสภาพร่างกายเกิดความเครียดจากภายใน มีความเมื่อยล้าตลอดเวลา รู้สึกเหนื่อยเพราะร่างกายฟื้นตัวไม่ทัน ทำให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ

overtraining-4.jpg

4. รู้สึกเจ็บปวดหรือกล้ามเนื้อเมื่อยล้านานกว่าปกติ

อาการเจ็บปวดหรือกล้ามเนื้อเมื่อยล้าหลังจากออกกำลังกายถือเป็นเรื่องปกติ สำหรับคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำอาการเหล่านี้จะหายไปได้เองใน 24 - 48 ชั่วโมง แต่สำหรับคนที่ฝึกมากเกินไปและอยู่ในสภาวะ Overtraining จะใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่านั้น จากคำแนะนำของแชมป์กีฬาเพาะกายอย่าง มิกาห์ ลาเคิร์ท ระบุว่า หากใช้เวลามากกว่า 72 ชั่วโมงและยังไม่หายเจ็บปวดหรือเมื่อยล้า แสดงว่าคุณกำลังเข้าข่ายการฝึกที่มากเกินไป

overtraining-5.jpg

5. อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ

ช่วงเวลาที่หัวใจจะเต้นในสภาพปกติและช้าที่สุด คือช่วงที่เราตื่นนอนในตอนเช้า ให้ลองวัดอัตราการเต้นของหัวใจดูว่าอยู่ที่เท่าไหร่ หากหัวใจของคุณเต้นเร็วผิดจากค่าปกติที่เคยวัดได้ นั่นหมายความว่าร่างกายของคุณยังทำงานหนักเพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูสภาพร่างกายอยู่ แม้จะผ่านการพักผ่อนมา 1 คืนเต็มๆ แล้วก็ตาม ดังนั้นควรปรับการออกกำลังกายให้ลดลงหรือปรับเปลี่ยนโปรแกรมการฝึกซ้อมให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

หากมีอาการต่างๆข้างต้น  ให้ลองสังเกตการฝึกซ้อมของตนเองว่าหนักเกินไปหรือไม่ และปรับตารางการฝึกซ้อมให้เหมาะสม เพราะการฝึกมากเกินไปนอกจากจะส่งผลเสียต่อสภาพร่างกายแล้ว ในระยะยาวอาจส่งผลต่อสุขภาพของจิตใจได้อีกด้วย

shop now