การมีสุขภาพร่างกายที่สมดุลและมีสุขภาพจิตที่ดีเป็นสุดยอดปรารถนาของทุกคน โดยเฉพาะคุณผู้หญิงในระยะก่อนมีประจำเดือน ซึ่งมักมีอาการอันไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นจนอาจทำให้เสียสมดุลชีวิตในช่วงนั้นได้ เช่น ปวดท้อง ปวดเมื่อย สิวขึ้น หรืออารมณ์หงุดหงิดง่าย เป็นต้น แม้จะเป็นอาการตามธรรมชาติที่ผู้หญิงจำนวนมากต้องเผชิญ แต่มีหลายอย่างที่ช่วยบรรเทาภาวะเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย หรือการใช้สารอาหารต่างๆ เช่น น้ำมันอีฟนิงพริมโรส น้ำมันโบราจ ตังกุย และขิง

อาการผิดปกติก่อนมีประจำเดือน หรือกลุ่มอาการ PMS (Premenstrual Syndrome)

ผู้หญิงก่อนมีประจำเดือนจะมีสมดุลของฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงทำให้อาจเกิดกลุ่มอาการป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอาการ ดังนี้

  • อาการป่วยทางอารมณ์ ได้แก่ หงุดหงิด ขี้โมโห เครียด คิดมาก กังวล ท้อแท้ หลงลืม บางคนอาจมีอารมณ์แปรปรวนหรือซึมเศร้าได้
  • อาการป่วยทางร่างกาย เช่น เกิดอาการปวดหรือเจ็บตามบริเวณต่างๆ เช่น เจ็บทรวงอก ต่อมน้ำนม หรือเจ็บหัวนม (Mastalgia) อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บวม ท้องอืด วิงเวียนศีรษะ เป็นสิว อ่อนเพลีย
  • อาการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เช่น หน้าท้องขยาย ร่างกายสะสมน้ำเพิ่มขึ้น ทำให้น้ำหนักเพิ่ม อาจเพิ่มได้ถึง 1-2 กิโลกรัม

GLA เกี่ยวข้องกับ PMS อย่างไร

แกมมาไลโนเลนิก แอซิด หรือ GLA (Gamma-Linolenic Acid) เป็นกรดไขมันจำเป็นชนิดหนึ่ง ในกลุ่มโอเมก้า 6 ที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ ต้องสร้างจากกรดไขมันจำเป็นคือ ไลโนเลอิก แอซิด หรือ LA (Linoleic Acid) GLA จึงนับเป็นกรดไขมันพิเศษที่ให้คุณประโยชน์ต่อสุขภาพและความงามเป็นอย่างมาก โดยช่วยให้หลอดเลือดคลายตัว ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ลดอาการบวม ปวด แดง ที่เกิดจากการอักเสบ อ้างอิงจากหนังสือ Fats That Can Save Your Life (Progressive Health Publishing) โดย Robert Erdmann, Ph.D. และ Meirion Jones กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มี GLA สามารถช่วยลดอาการผิดปกติก่อนมีประจำเดือนได้ถึง 90% เช่น อาการคัดหน้าอก อาการบวม อารมณ์หงุดหงิด และอาการระคายเคือง แพ้ง่าย

เราสามารถพบกรดไขมันแกมมาไลโนเลนิก แอซิด หรือ GLA ได้ในสารอาหารหลายชนิด เช่น น้ำมันอีฟนิงพริมโรส น้ำมันโบราจ ตังกุย และขิง

น้ำมันอีฟนิงพริมโรส หรือ EPO (Evening Primrose Oil)

บางคนเรียกว่าน้ำมันเมล็ดอีฟนิงพริมโรส หรือ EPSO (Evening Primrose Seed Oil) เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในกลุ่มไขมันหรือลิพิดอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมมานาน สารสำคัญที่ปรากฏอยู่ใน EPO คือกรดไขมันแกมมาไลโนเลนิก แอซิด หรือ GLA ในกลุ่มโอเมก้า 6

EPO ถูกนำมาใช้รักษาหรือป้องกันอาการผิดปกติก่อนมีประจำเดือน มีบางรายงานแนะนำขนาดที่รับประทานของ EPO คือ ครั้งละ 250-500 มก. วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน หรือประมาณวันละ 1-2 กรัม โดยรับประทานล่วงหน้า 3 วันก่อนมีอาการ PMS หรือ 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน     และอาจร่วมกับสารอาหารบางชนิด เช่น วิตามินบี 6 (50 มก./วัน) ธาตุสังกะสี (10 มก./วัน) วิตามินซี (500 มก. – 3 กรัม/วัน) หรือรับประทานผักผลไม้และอาหารทะเลให้มากขึ้น งดชา กาแฟ

น้ำมันโบราจ (Starflower)

เมล็ดของโบราจให้กรดไขมัน GLA ในปริมาณสูงถึง 24-25% นอกจากนี้ยังมีกรดไขมันชนิดอื่นๆ อีก เช่น ไลโนเลอิก แอซิด (LA) ปาล์มิติก แอซิด (Palmitic Acid) สเตียริก แอซิด (Stearic Acid) เป็นต้น

ตังกุย (Dong Quai)

เป็นพืชในตระกูลพาร์สลีย์ ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ทางยาคือราก ตังกุยประกอบด้วย เฟรูลิก เอซิด (Ferulic Acid) น้ำมันหอมระเหย รวมถึง Ligustilide ในตำราแพทย์แผนจีน รากของตังกุยมีคุณสมบัติในการปรับสมดุลของระบบเลือดและสมดุลพลังงาน และบ่อยครั้งใช้แก้ปัญหาทางด้านระบบอวัยวะสืบพันธุ์ของสตรี เป็นสมุนไพรที่เป็นที่นิยมแพร่หลายในประเทศจีน

รากของตังกุยมีประโยชน์ต่อระบบเลือดและช่วยปรับสมดุลพลังงานของชีวิต ใช้บ่อยในสตรีที่มีความผิดปกติขณะมีประจำเดือน ปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ โลหิตจาง ความดันโลหิตสูง ท้องผูก ส่วนในทางซีกโลกตะวันตกใช้ในการปรับเปลี่ยนและควบคุมระบบสืบพันธุ์ของสตรีให้เป็นปกติ ให้ร่วมกับการรักษากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome; PMS) ประจำเดือนมาช้า และอาการในวัยหมดประจำเดือน

ขิง (Ginger)

ขิงช่วยปกป้องร่างกายจากความชื้นและความหนาวเย็น ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์มีหลายส่วน เช่น รากสด เหง้าแห้ง น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากเหง้าแห้ง เป็นต้น ขิงประกอบด้วยสารสำคัญหลัก คือ Gingerol และ Shogaol ช่วยยับยั้งผลของซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนหลักที่กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ส่งผลให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว จึงลดอาการปวดประจำเดือนได้

สารอาหารต่างๆ เหล่านี้เมื่อนำผสมผสานกันจะให้คุณประโยชน์ต่างๆ แก่ร่างกาย โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงที่ต้องเผชิญภาวะอาการก่อนมีประจำเดือนที่รบกวนชีวิตประจำวันทุกเดือน

ข้อมูลอ้างอิง
  1. ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพนิวทริไลท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
  2. วินัย ดะห์ลัน. น้ำมันและลิพิดที่ใช้ลดไขมันในเลือด. ใน: สารอาหารที่นิยมใช้เสริมสุขภาพและต้านโรค. ธิดา นิงสานนท์ และ อรวรรณ เรืองสมบูรณ์ (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2535: 267-291 (53 ref.).
  3. Bamford J, et al. Atopic eczema unresponsive to evening primrose oil/linoleic and gamma-linolenic acids. J Amer Acad Dermatol 1985; 13: 959.
  4. Dahlan W. Intravenous infusion of triacylglycerol-phospholipid complexes in man: effects on fatty acid pattern of plasma and on erythrocyte membrane lipid composition. D. dissetation. Belgium: Universite Libre de Bruxelles, 1989.
  5. Yamahara J, et al. 1989. “Active Compounds of Ginger Exhibiting Anti-serotonergic Action”. Phytotherapy Research, 3(2): 70-71.
shop now