โสมไซบีเรียมีสรรพคุณที่จะช่วยเสริมสมรรถนะของร่างกาย ปรับสมดุลหยิน-หยาง เพิ่มภูมิต้านทานเชื้อไวรัส ได้รับความนิยมในกลุ่มนักกีฬาที่ต้องใช้พลังงานมาก

โสมไซบีเรีย คืออะไร

ก่อนไปทำความรู้จักกับ โสมไซบีเรีย (Siberian Ginseng) มาสำรวจกันก่อนว่าโสมคืออะไร? โสม หรือ Ginseng เป็นสมุนไพรที่มีลักษณะเป็นรากพืชยอดนิยมที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคต่างๆ มากที่สุดในโลก โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียและอเมริกาเหนือ ที่มีการใช้โสมมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ1

โสมมีมากมายหลายสายพันธุ์ แต่สามารถจำแนกได้ 3 ชนิดหลัก ได้แก่

  1. โสมไซบีเรีย (Siberian Ginseng, Russian Ginseng หรือ Eleuthero) คือสมุนไพรจีนพื้นบ้าน มีลักษณะเป็นพุ่ม กิ่งก้านยาว และมีหนามปกคลุม2 มีคุณสมบัติเสริมพลังลมปราณให้แก่ร่างกาย ปรับสมดุลระหว่างหยิน-หยาง (หยิน คือ การหยุดนิ่ง หยาง คือ การเคลื่อนไหว) โดยเฉพาะการปรับสมดุลพลังหยางให้กับม้าม และไต เพื่อกระตุ้นการทำงานของม้าม และไตให้มีประสิทธิภาพ

เหนื่อยไหม?
มาเติมพลังให้ทุกวันไม่เพลีย

  1. โสมเกาหลี หรือ โสมแดง (Korea Ginseng, Chinese Ginseng, Asian Ginseng หรือ Red Ginseng) ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Panax ginseng เป็นโสมที่ชาวเอเซีย เช่น ชาวจีน และชาวเกาหลีใช้กันมาอย่างยาวนาน จัดเป็นโสมร้อน (Hot Ginseng) ที่มีคุณสมบัติกระตุ้นร่างกายได้ในช่วงระยะสั้นๆ ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า
  2. โสมอเมริกัน หรือ โสมขาว (American Ginseng) ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Panax quinquefolium เป็นโสมอีกสายพันธุ์ที่ค้นพบในแคนนาดา และเป็นสมุนไพรที่ชาวอินเดียนแดงใช้มาอย่างยาวนาน จัดเป็นโสมเย็น (Cool Ginseng) ที่มีคุณสมบัติช่วยทำให้สงบ

โสมไซบีเรีย มีสารอาหารอะไรที่สำคัญบ้าง

โดยทั่วไปแล้ว โสมมีส่วนประกอบที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญคือ จินเซนโนไซด์ (Ginsenosides) ซึ่งเป็นสารประกอบธรรมชาติที่มีโครงสร้างทางเคมีเป็น ไตรเทอร์ปีนซาโปนิน (Triterpene Saponins) ที่ส่งผลต่อการทำงานของสมองและระบบประสาทส่วนกลาง ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน การอักเสบและภูมิแพ้ การลดระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงการต่อต้านเซลล์มะเร็ง3

ในขณะเดียวกัน โสมไซบีเรีย เป็นแหล่งของฟีนอลที่เรียกว่า สารอีลิวเธโรไซด์ (Eleutherosides) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มไกลแคน (Glycans) ที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ดี2 อีกทั้งยังมีสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) กรดฟีนอลิก (Phenolic acids) กรดไตรเทอร์พีนิก (Triterpenic acids) และแอนโทไซยานิน (Anthocyanins) ซึ่งช่วยการฟื้นตัวจากอาการกล้ามเนื้อเหนื่อยล้าได้ดี จึงนิยมนำมาใช้ในการรักษาโรคอักเสบ โรคโลหิตจาง และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์4

ความแตกต่างของโสมไซบีเรีย โสมเกาหลี และโสมอเมริกัน

ความแตกต่างของโสมทั้ง 3 ชนิด คือ โสมเกาหลี และโสมอเมริกันเป็นโสมสายพันธุ์เดียวกัน ในขณะที่โสมไซบีเรียจะเป็นคนละสายพันธุ์ แต่อยู่ในวงศ์เดียวกัน โดยในโสมเกาหลีและโสมอเมริกันมีสารสำคัญที่เรียกว่า จินเซนโนไซด์ (Ginsenosides) ส่วนในโสมไซบีเรียจะเป็นสารอีลิวเธโรไซด์ (Eleutherosides)

โสมเกาหลี

โสมไซบีเรีย

โสมอเมริกัน

นอกจากนี้ ยังมีความแตกต่างในเรื่องของการกระตุ้นระบบประสาท พบว่าโสมไซบีเรียไม่มีผลต่อการกระตุ้นประสาทเหมือนกับโสมเกาหลีหรือโสมอเมริกัน และที่สำคัญคือ โสมสายพันธุ์ Panax เช่น โสมเกาหลี และโสมอเมริกัน มักมีผลข้างเคียงที่อาจพบในบางคนเมื่อกินเกินขนาด ตัวอย่างเช่น ความดันโลหิตสูง วิงเวียน และประสาทตื่นตัว แต่อาการเหล่านี้พบได้น้อยมากในโสมไซบีเรีย

โสมไซบีเรีย กับสรรพคุณที่น่าสนใจ

โสมไซบีเรีย มีการใช้เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่มาอย่างยาวนาน เนื่องจากสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพอย่างอีลิวเธโรไซด์และจินเซนโนไซด์ ที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน2 รวมถึงในโสมเองยังมีสารสกัดที่มีฤทธิ์ช่วยปรับสมดุลต่างๆ ของร่างกาย เรียกว่า อะแดปโตเจน (Adaptogen) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยเสริมสมรรถภาพร่างกายให้แข็งแรง สมบูรณ์ มีสุขภาพดี ช่วยลดความเครียด และชะลอวัย3 นอกจากนี้โสมไซบีเรียยังมีสรรพคุณอื่นๆ อีกมากมายที่น่าสนใจ ดังนี้

เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย

โสมไซบีเรีย มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการแพทย์พื้นบ้านของจีนและรัสเซีย มีการใช้โสมไซบีเรียเป็นยาครอบจักรวาลเพื่อช่วยส่งเสริมให้อายุยืนยาว เนื่องจากสารสำคัญมีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย ช่วยลดอาการเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกาย นอกจากนี้ ในประเทศจีนยังมีการใช้สารสกัดจากโสมไซบีเรียเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพสำหรับการบรรเทาและรักษาอาการอ่อนแรง หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการอักเสบ4

เหนื่อยไหม?
มาเติมพลังให้ทุกวันไม่เพลีย

เสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

โสมไซบีเรีย มีสารสำคัญอย่างจินเซนโนไซด์ ซึ่งมีส่วนช่วยในการส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีงานวิจัยที่บ่งชี้ถึงการใช้โสมไซบีเรียและโสมชนิดอื่นๆ ที่มีการเสริมภูมิต้านทาน (Antibody) เพื่อยับยั้งเชื้อไวรัส และช่วยแยกไวรัสออกจากเยื่อเมือกภูมิคุ้มกันของเซลล์ ทำให้สามารถช่วยรักษาไวรัสไข้หวัดใหญ่ และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจได้5

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาว่าผลิตภัณฑ์โสมไซบีเรียและยาแคปซูลฟ้าทะลายโจร สามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการโรคหวัด เมื่อกินควบคู่กันหลังจากเริ่มมีอาการเป็นเวลา 72 ชั่วโมง เช่นเดียวกันกับการทดลองเพื่อเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์โสมไซบีเรียกับอะแมนตาดีน (Amantadine) ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่บางชนิด พบว่าผู้ที่รับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของโสมไซบีเรีย หายจากไข้หวัดใหญ่เร็วกว่าผู้ที่กินอะแมนตาดีน6

ลดการระบาดของไวรัสเริม

โสมไซบีเรีย มีส่วนในการช่วยรักษาและลดการระบาดของไวรัสเริมชนิดที่ 2 ได้ เนื่องจากโสมไซบีเรียมีสรรพคุณในการส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันและยับยั้งไวรัสได้หลายชนิด7 โดยมีการทดลองเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของโสมไซบีเรียในการรักษาไวรัสเริม ด้วยการทดลองแบบ Double-blind กับผู้เข้าร่วม 93 คนที่ติดเชื้อไวรัสเริมบริเวณอวัยวะเพศ พบว่าการรับประทานโสมไซบีเรียช่วยบรรเทาและลดความรุนแรงของเชื้อไวรัสได้6

ช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศ

จากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า จินเซนโนไซด์ในโสมไซบีเรีย มีส่วนช่วยในการบำรุงสมรรถภาพทางเพศ การแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย และส่งเสริมพฤติกรรมทางเพศ นอกจากนี้โสมไซบีเรียยังมีส่วนช่วยปรับปรุงคุณภาพ และปริมาณของอสุจิสำหรับผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากอีกด้วย8

วิธีการบริโภคโสมไซบีเรีย

โสมไซบีเรียถูกนำมาใช้เพื่อบำรุงรักษาสุขภาพโดยรวม โดยเฉพาะการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน การช่วยบรรเทาอาการอักเสบหรือความเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อ ตลอดจนช่วยรักษาโรคต่างๆ ได้ ซึ่งโสมไซบีเรียสามารถนำไปกินได้หลากหลายวิธี ดังนี้

อาหารเสริม

อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของโสมไซบีเรียมีประโยชน์ต่อร่างกายและสะดวกสบายต่อการกิน โดยทั่วไปแล้วปริมาณที่เหมาะสมในการกิน คือ 300-400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือกินได้ตามฉลากของผลิตภัณฑ์ และสำหรับอาการเรื้อรัง เช่น ความเครียด หรือความเหนื่อยล้า ควรกินโสมไซบีเรียต่อเนื่องเป็นระยะเวลาสามเดือน จากนั้นหยุดกินประมาณ 3-4 สัปดาห์ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หากไม่แน่ใจว่าต้องกินในปริมาณมากน้อยเพียงใด เพื่อผลลัพธ์ในการกินที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด9

เหนื่อยไหม?
มาเติมพลังให้ทุกวันไม่เพลีย

อาหาร และเครื่องดื่ม

โสมไซบีเรียมีประโยชน์มากมาย และสามารถนำมาประกอบเป็นเมนูอาหารต่างๆ ได้ เช่น ไก่ตุ๋น ซี่โครงหมูตุ๋น ต้มจืดเห็ดหอมตุ๋น โดยการใส่โสมไซบีเรีย และสมุนไพรอื่นๆ ลงไป หรืออาจทำเป็นเครื่องดื่ม เช่น ชาโสมผสมน้ำผึ้ง สมูทตี้ผลไม้ผสมโสมไซบีเรีย เป็นต้น ซึ่งเมนูต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม

โสมไซบีเรีย กับปฏิกิริยาเมื่อใช้กับยาบางชนิด

การกินโสมไซบีเรียสำหรับบางคนอาจเกิดผลข้างเคียงได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมียาที่ต้องกินอยู่เป็นประจำ อาจต้องมีการพิจารณาก่อนว่ามีผลข้างเคียงกับโรค หรือยาที่กำลังใช้อยู่หรือไม่ ซึ่งสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์ประจำตัวเพื่อความปลอดภัย โดยมียาหลายชนิดที่ไม่ควรกินร่วมกับโสมไซบีเรีย10 ดังนี้

  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulants) การกินโสมไซบีเรียที่มีฤทธิ์เสริมธาตุร้อนคู่กับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกได้ง่าย ดังนั้น ผู้ที่ใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) วาร์ฟาริน (Warfarin) หรือคูมาดิน (Coumadin) โคลพิโดเกรล (Clopidogrel) หรือพลาวิกซ์ (Plavix) ควรหลีกเลี่ยงการกินโสมไซบีเรีย หรือควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนกินเสมอ
  • จอกซิน (Digoxin) ไดจอกซิน เป็นตัวยาที่ใช้ในการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งการกินโสมไซบีเรีย อาจทำให้ระดับของไดจอกซินในเลือดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงอื่นๆ ตามมาได้
  • คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) การกินโสมไซบีเรียกับยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซน (Prednisone) อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างโสมไซบีเรียกับสเตียรอยด์ได้
  • ยาลิเธียม (Lithium) ควรหลีกเลี่ยงการกินโสมไซบีเรียร่วมกับยาลิเธียม เพราะโสมไซบีเรียจะเข้าไปทำให้ร่างกายกำจัดลิเธียมยากขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้
  • ยาระงับประสาท การใช้โสมไซบีเรียร่วมกับยาระงับประสาท โดยเฉพาะยาในกลุ่มบาร์บิทูเรต (Barbiturates) เช่น เพนโทบาร์บิทอล (Pentobarbital) ที่ใช้ในการรักษาอาการนอนไม่หลับหรืออาการชัก อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาระงับประสาทมีความรุนแรงมากขึ้น
  • กดภูมิคุ้มกัน การกินโสมไซบีเรียร่วมกับยากดภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตนเอง (Autoimmune) หรือใช้รักษาหลังจากการปลูกถ่ายอวัยวะ โสมไซบีเรียอาจไปทำปฏิกิริยากับยากดภูมิคุ้มกัน เนื่องจากโสมไซบีเรียมีสรรพคุณในการเสริมภูมิคุ้มกันนั่นเอง
  • ยารักษาโรคเบาหวาน โสมไซบีเรียช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้

ข้อควรระวัง และผลข้างเคียงในการบริโภคโสมไซบีเรีย

ควรปรึกษาแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร หรือเภสัชกรก่อนกินโสมไซบีเรีย เพื่อขอคำแนะนำ หรือพิจารณาข้อควรระวังในการใช้โสมไซบีเรีย ซึ่งสามารถสำรวจได้จากลักษณะดังต่อไปนี้10

  1. เด็ก ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้กำลังให้นมบุตร ไม่ควรกินโสมไซบีเรีย และหากกินต้องอยู่ภายใต้การดูแลควบคุมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
  2. หากมียาที่ใช้เป็นประจำหรือมีโรคประจำตัว ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ
  3. ผู้ที่มีอาการแพ้สารประกอบทางชีวภาพ หรือส่วนผสมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับโสมไซบีเรีย หรือมีอาการแพ้สมุนไพรอื่นๆ ไม่ควรกินโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญ
  4. มีอาการเจ็บป่วย หรือมีความผิดปกติทางร่างกายอื่นๆ
  5. มีอาการแพ้สารบางชนิด เช่น สารอาหาร สีผสมอาหาร สารกันเสีย เป็นต้น

นอกจากข้อควรระวังแล้ว ควรทราบถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการกินโสมไซบีเรีย เช่น อาการอาเจียน อาการปวดหัว สับสน ง่วงนอน หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตสูง เลือดกำเดาไหล หรืออาจนอนไม่หลับ10 ซึ่งหากมีความกังวลในเรื่องผลข้างเคียง สามารถปรึกษาแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร หรือเภสัชกรก่อนกินโสมไซบีเรียได้

เหนื่อยไหม?
มาเติมพลังให้ทุกวันไม่เพลีย

สรุป

โสมไซบีเรีย (Siberian Ginseng) คือสมุนไพรที่มีประวัติการใช้งานเป็นยาพื้นบ้านมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในแถบประเทศจีนและรัสเซีย โดยในโสมไซบีเรียมีสารสำคัญอย่าง สารอีลิวเธโรไซด์ (Eleutherosides) ที่มีสรรพคุณพิเศษในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ต่อต้านการอักเสบ ปรับปรุงสมรรถภาพโดยรวมของร่างกาย ช่วยให้กล้ามเนื้อสามารถทำงานได้ยาวนานขึ้น และช่วยการฟื้นตัวจากอาการเหนื่อยล้า อีกทั้งผลข้างเคียงของโสมไซบีเรียยังมีน้อยกว่าโสมเกาหลี หรือโสมอเมริกา ทำให้โสมไซบีเรียเป็นที่นิยมในการทำเป็นอาหารเสริม หรือการกินในรูปแบบต่างๆ

ข้อมูลอ้างอิง
  1. Zubair Ahmed Ratan, Mohammad Faisal Haidere, Yo Han Hong, Sang Hee Park, Jeong-Oog Lee, Jongsung Lee, and Jae Youl Cho. Pharmacological potential of ginseng and its major component ginsenosides. Sciencedirect.com. Published 25 March 2020. Retrieved 19 October 2023.
  2. Mount Sinai. Siberian ginseng. Mountsinai.org. (No Date). Retrieved 19 October 2023.
  3. สุรพจน์ วงศ์ใหญ่. ผลทางเภสัชวิทยาของสารจินเซ็นโนไซด์ในโสมอเมริกาต่อสุขภาพ. Published 26 December 2012. Retrieved 19 October 2023.
  4. Daniel Załuski, Marta Olech, Agnieszka Galanty, Robert Verpoorte, Rafał Kuźniewski, Renata Nowak, and Anna Bogucka-Kocka. Phytochemical Content and Pharma-Nutrition Study on Eleutherococcus senticosus Fruits Intractum. Ncbi.nlm.nih.gov. Published 24 October 2016. Retrieved 19 October 2023.
  5. Hamid Iqbal and Dong-kwon Rhee. Ginseng alleviates microbial infections of the respiratory tract: a review. Ncbi.nlm.nih.gov. Published 12 December 2019. Retrieved 19 October 2023.
  6. St. Luke’s Hospital. Siberian ginseng. Stlukes-stl.com. (No Date). Retrieved 19 October 2023.
  7. Stephen M. Wright and Elliot Altman. Inhibition of Herpes Simplex Viruses, Types 1 and 2, by Ginsenoside 20(S)-Rg3. Ncbi.nlm.nih.gov. Published 6 November 2019. Retrieved 19 October 2023.
  8. Kar Wah Leung and Alice ST Wong. Ginseng and male reproductive function. Ncbi.nlm.nih.gov. Published 13 September 2013. Retrieved 19 October 2023.
  9.  Annie Price. Eleuthero (Siberian Ginseng) Benefits to Boost Body & Brain Health. Draxe.com. Published 12 December 2018. Retrieved 19 October 2023.
  10. Hello Khunmor. โสมไซบีเรีย (Siberian-Ginseng). Hellokhunmor.com. (No Date). Retrieved 19 October 2023.
shop now