ตังกุย (Female Ginseng หรือ Dong Quai) ให้กรดเฟอรูลิก น้ำมันหอมระเหย และสารไลกัสติไลด์ และสารอาหารอื่นๆ ช่วยบำรุงเลือดและรักษาสมดุลของพลังงานในร่างกาย พร้อมสรรพคุณเพื่อผู้หญิงอีกมากมาย

ตังกุย คืออะไร?

ตังกุย คือสมุนไพรจีนชนิดหนึ่ง อยู่ในตระกูลเดียวกันกับผักชีฝรั่ง ขึ้นฉ่าย และแคร์รอต มีลักษณะลำต้นตรง สูงประมาณ 40 – 100 ซม. เปลือกลำต้นสีน้ำตาล มีรากใต้ดินขนาดใหญ่ ตังกุยเป็นที่นิยมในการแพทย์แผนจีน เนื่องจากประโยชน์ของตังกุยที่ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงเลือด บรรเทาอาการปวดเมื่อย และกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ทำให้ระบบเลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น โดยเฉพาะรากที่ส่งผลต่อฮอร์โมนเอสโตรเจน1 ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง ตังกุยจึงมีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยควบคุมรอบเดือนให้เป็นปกติ ทั้งลดอาการผิดปกติก่อนมีประจำเดือน และอาการในช่วงวัยหมดประจำเดือน

สารอาหารในตังกุย มีอะไรบ้าง

สารที่พบในตังกุย นอกจากน้ำมันหอมระเหย และกรดเฟอรูลิกแล้ว ยังมีสารอาหารที่โดดเด่น ได้แก่ สารไลกัสติไลด์ วิตามินเอ วิตามินบี 12 และวิตามินอี2 สมุนไพรตังกุยจึงมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคต่างๆ โดยเฉพาะการรักษาอาการภายในของผู้หญิง ซึ่งจากการศึกษาพบว่า สารไลกัสติไลด์มีคุณสมบัติออกฤทธิ์ช่วยคลายกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงกล้ามเนื้อบริเวณมดลูก และบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้3 อีกทั้งวิตามินบี 12 เป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือด ช่วยกระตุ้นเลือดในร่างกายให้ไหลเวียนสะดวกขึ้น สลายเลือดคั่ง ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง สุขภาพดี และมีน้ำมีนวล สารอาหารที่พบในตังกุยจึงเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคโลหิตจางด้วยเช่นกัน4

ประโยชน์ของตังกุย
เพื่อสุขภาพผู้หญิง

9 สรรพคุณของตังกุย

ตังกุยเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยม และมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยบำรุง และรักษาอาการผิดปกติได้หลากหลาย ซึ่งสรรพคุณต่างๆ ของตังกุยมีดังนี้

1. ช่วยบำรุงเลือด

ตังกุยให้กรดเฟอรูลิก (Ferulic Acid) น้ำมันหอมระเหย และสารไลกัสติไลด์ (Ligustilide) ซึ่งมีส่วนช่วยบำรุงเลือด และรักษาสมดุลของพลังงานในร่างกาย ตังกุยออกฤทธิ์ต่อหัวใจ ตับ และม้าม จึงใช้เป็นยาบำรุงเลือด ฟอกเลือด และรักษาโรคโลหิตจาง ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดในร่างกายให้ดีขึ้น2 โดยมีงานวิจัยพบว่า ยาต้มตังกุยสูตรจีนโบราณ มีสรรพคุณกระตุ้นการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง เสริมการทำงานของระบบหัวใจ และหลอดเลือด5

2. ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน

ตังกุยสามารถบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้ โดยในช่วงมีประจำเดือนกล้ามเนื้อมดลูกจะหดเกร็ง ทำให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือน จากการศึกษาพบว่า สารไลกัสติไลด์ (Ligustilide) ในตังกุยมีฤทธิ์ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งรวมไปถึงกล้ามเนื้อมดลูกด้วย ตังกุยจึงช่วยลดการหดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก6 และบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้

3. ช่วยลดอาการผิดปกติก่อนมีประจำเดือน

ตังกุยนิยมนำมาใช้เป็นยาบำรุงสุขภาพผู้หญิง เพื่อช่วยลดอาการผิดปกติก่อนมีประจำเดือน (PMS) ปรับประจำเดือนให้มาเป็นปกติ และรักษาอาการร้อนวูบวาบในวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากตังกุยสามารถควบคุมระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายได้ เมื่อระดับฮอร์โมนสมดุลก็สามารถช่วยบรรเทาอาการผิดปกติ และอาการของวัยหมดประจำเดือนได้6 แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะไวต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

4. ช่วยบำรุงสุขภาพทางเพศ

ตังกุยผู้ชายกินได้ไหม? ประโยชน์ของตังกุยไม่ใช่แค่บำรุงสุขภาพสำหรับผู้หญิงเท่านั้น แต่ช่วยบำรุงสุขภาพของผู้ชายได้เช่นกัน เนื่องจากตังกุยอุดมไปด้วยกรดเฟอรูลิก (Ferulic Acid) ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหวของตัวอสุจิ6 ตังกุยจึงช่วยเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์ของผู้ชายได้ นอกจากนี้ ยังเคยมีการนำไปใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ เพื่อใช้เป็นยาทากระตุ้นอวัยวะเพศ หรือกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ซึ่งจากรายงานตรวจสอบแล้วพบว่าปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการบำรุงสุขภาพทางเพศของผู้ชาย7

5. ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารดีขึ้น

สรรพคุณของตังกุยยังช่วยให้ระบบทางเดินอาหารดีขึ้น ป้องกันทางเดินอาหาร และลำไส้จากกรดในกระเพาะอาหารที่มากเกินไป เพราะเมื่อกรดในกระเพาะกัดกร่อน ระบบทางเดินอาหารก็อาจเกิดอาการอักเสบเรื้อรังได้7 ซึ่งมีผลวิจัยชี้ให้เห็นว่าสารโพลีแซ็กคาไรด์ (Polysaccharides) ในตังกุยมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีประโยชน์ต่อการป้องกันการบาดเจ็บของเยื่อเมือกในระบบทางเดินอาหาร8 การบำรุงด้วยตังกุยจึงอาจช่วยให้ร่างกายรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหารได้

6. ช่วยบำรุงกระดูก

นอกจากตังกุยจะเป็นสมุนไพรที่ช่วยบำรุงเลือดแล้ว ยังช่วยบำรุงกระดูกได้อีกด้วย โดยมักพบเป็นส่วนผสมหลักในใบสั่งยาสำหรับอาการบาดเจ็บที่กระดูก จากการศึกษาผลกระทบของ Angelica sinensis ต่อการเพิ่มจำนวนเซลล์กระดูกของมนุษย์พบว่า สารสกัดจากน้ำของ Angelica sinensis หรือตังกุย ได้มีปฏิกิริยากับเซลล์โรคกระดูกพรุนของมนุษย์ ช่วยกระตุ้นการเพิ่มจำนวนอัลคาไลน์ฟอสฟาเตส (ALP) การหลั่งโปรตีน โดยเฉพาะการสังเคราะห์คอลลาเจน9 ซึ่งทำให้ตังกุยอาจมีบทบาททางโภชนาการในการกระตุ้นเซลล์กระดูก และส่งผลดีต่อสุขภาพกระดูกทั้งหมด7

ประโยชน์ของตังกุย
เพื่อสุขภาพผู้หญิง

7. ช่วยต้านอาการอักเสบ

จากการศึกษาทดลองต่างๆ พบว่า องค์ประกอบทางเคมีจากตังกุยได้แสดงให้เห็นผลต้านการอักเสบ เช่น บรรเทาการอักเสบโดยลดจำนวนเซลล์ที่ตาย และปรับปรุงไซโตไคน์ที่มีการอักเสบจำนวนมาก10 สามารถลดความเข้มข้นของโปรตีน และเนื้องอกร้ายจากการตรวจสอบผลต้านการอักเสบของเบาหวาน11 และฤทธิ์ต้านการอักเสบของกรดเฟอรูลิก (Ferulic Acid) มีส่วนสำคัญต่อผลการรักษาภาวะสมองตาย12 ตังกุยจึงมีสรรพคุณช่วยลดการแทรกซึมของเซลล์ที่กำลังอักเสบได้

8. บำรุงระบบประสาท และสมอง

อีกหนึ่งสรรพคุณของตังกุยคือ บำรุงระบบประสาท และสมอง เนื่องจากมีสารอาหารที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันความเสียหายของเซลล์ประสาท เพราะจากการวิจัยทางการแพทย์แผนเกาหลีพบว่า มีประสิทธิภาพในการต้านอักเสบ และมีส่วนช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบประสาทสัมผัส และสมอง13

9. มีส่วนช่วยเรื่องสุขภาพทางเดินหายใจ

ตังกุยมีประโยชน์ต่อระบบทางเดินหายใจ เพราะองค์ประกอบทางเคมีของสารโพลิอีนจากรากของตังกุย ได้รับการตรวจสอบคุณสมบัติต้านวัณโรค และได้รับการยืนยันว่าทับซ้อนกันทางเคมีกับหลักการออกฤทธิ์ของระบบประสาท14 จากการค้นพบนี้ ได้เผยให้เห็นถึงสรรพคุณทางการรักษาของสารสกัดตังกุย และประโยชน์ในการออกฤทธิ์ต้านวัณโรคของตังกุยในฐานะสมุนไพรพื้นเมือง

ประโยชน์ของตังกุย
เพื่อสุขภาพผู้หญิง

ข้อควรรู้! ก่อนเลือกกินตังกุย

ผู้ที่ต้องการกินตังกุยเพื่อบำรุงร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์ก่อน โดยแพทย์จะประเมินสุขภาพโดยทั่วไป ยาที่ใช้ในปัจจุบัน และการใช้อาหารเสริม หากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นสมควรก็จะให้คำแนะนำการกินตังกุย โดยสามารถกินตังกุยได้นานถึง 6 เดือน และใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ได้อย่างปลอดภัยในปริมาณ 150 มก. ต่อวัน1 แต่ถ้าหากกินตังกุยในปริมาณที่สูงกว่านี้เป็นเวลานานกว่า 6 เดือน อาจไม่ปลอดภัยต่อร่างกาย ทำให้ผิวไวต่อแสงแดดเป็นพิเศษ เกิดผลข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น มีอาการเรอ มีแก๊สในท้อง และความดันโลหิตสูง

ใครบ้างที่ไม่ควรกินตังกุย15

  • สตรีมีครรภ์ : ตังกุยอาจส่งผลต่อมดลูก และไม่ปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ หากกินในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์อาจเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติ หรือพิการแต่กำเนิดของทารกได้
  • ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ : ตังกุยทำให้เลือดแข็งตัวช้า และเพิ่มความเสี่ยงต่อการตกเลือด และมีรอยช้ำในผู้ที่เลือดออกผิดปกติ
  • ผู้ที่มีภาวะไวต่อการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน : ตังกุยทำหน้าที่คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน อาจทำให้ผู้ที่มีภาวะไวต่อฮอร์โมนมีอาการแย่ลงได้ เช่น ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ เยื่อบุโพรงมดลูกเติบโตผิดที่ หรือเนื้องอกในมดลูก
  • ผู้ที่อยู่ในระยะการให้นมบุตร : ในทางการแพทย์ยังไม่มีผลยืนยันแน่ชัดว่าตังกุยจะปลอดภัยสำหรับผู้ที่อยู่ในระหว่างการให้นมบุตรหรือไม่ ดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ตังกุย
  • ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด : ห้ามกินตังกุยเป็นเวลา 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพราะตังกุยจะทำให้เลือดแข็งตัวช้า อาจมีความเสี่ยงต่อการตกเลือดในระหว่างการผ่าตัด และหลังผ่าตัดได้

การใช้ตังกุยเป็นเวลานาน หรือปริมาณมากเกินไป อาจทำให้มีผลข้างเคียงเกิดขึ้น โดยอาจมีอาการหายใจติดขัด ปวดหัว วิงเวียน เป็นไข้ อ่อนเพลียง่าย เลือดออกง่าย ปวดท้อง มีภาวะความดันต่ำ หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ3 เป็นต้น หากพบอาการเหล่านี้ควรหยุดการใช้ตังกุยทันที และควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเพิ่มเติม

ประโยชน์ของตังกุย
เพื่อสุขภาพผู้หญิง

สรุป

ตังกุยคือสมุนไพรจีนชนิดหนึ่ง มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 12 วิตามินอี สารไลกัสติไลด์ สารโพลีแซ็กคาไรด์ และกรดเฟอรูลิก ตังกุยมีสรรพคุณช่วยบำรุงสุขภาพ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ลดอาการปวดประจำเดือน หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ ช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง และยังช่วยลดอาการของผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน สำหรับการใช้ตังกุยควรกินไม่เกิน 150 มก. ต่อวัน และไม่กินนานเกิน 6 เดือน ทั้งนี้ ควรระวังการใช้ตังกุย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อบำรุงสุขภาพ หรือบรรเทาอาการโรค ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์ช่วยแนะนำวิธีการใช้ที่ปลอดภัย หรือทางเลือกอื่นที่ปลอดภัยกว่า

ข้อมูลอ้างอิง
  1. WebMD. Dong Quai - Uses, Side Effects, and More. webmd.com. Retrieved 20 December 2023.
  2. เมดไทย. ตังกุย สรรพคุณและประโยชน์ของโสมตังกุย 18 ข้อ ! (โกฐเชียง). medthai.com. Published 10 June 2020. Retrieved 20 December 2023.
  3. PobPad. ตังกุย พืชสมุนไพรกับสุขภาพผู้หญิงและข้อเท็จจริงที่คุณควรรู้. pobpad.com. Retrieved 20 December 2023.
  4. พรระวี วิจารณ์. สมุนไพร “ตังกุย” ช่วยเรื่องอะไร ผู้หญิงควรเลือกทานอย่างไร. naturebiotec.com. Published 10 March 2021. Retrieved 20 December 2023.
  5. TK Yim, WK Wu, WF Pak, DH Mak, SM Liang and KM Ko. Myocardial protection against ischaemia-reperfusion injury by a Polygonum multiflorum extract supplemented 'Dang-Gui decoction for enriching blood', a compound formulation, ex vivo. pubmed.ncbi.nlm.nih.gov. Published 14 May 2000. Retrieved 20 December 2023.
  6. Jessica Gunawan and Kwek Le Yin. 5 Reasons Why Dang Gui is Highly Recommended for Women’s Health. allthingshealth.com. Published 6 November 2022. Retrieved 20 December 2023.
  7. Solstice Medicine Company. 10 Amazing Benefits of Dong Quai Root. solsticemed.com. Retrieved 21 December 2023.
  8. Chi Hin Cho, QB Mei, Peng Shang and SS Lee. Study of the Gastrointestinal Protective Effects of Polysaccharides from Angelica sinensis in Rats. researchgate.net. Published June 2000. Retrieved 21 December 2023.
  9. Qing Yang, Stephen M Populo, Jianying Zhang and Guoguang Yang. Effect of Angelica sinensis on the proliferation of human bone cells. researchgate.net. Published October 2002. Retrieved 21 December 2023.
  10. Drugs.com. Dong Quai. drugs.com. Published 30 November 2022. Retrieved 22 December 2023.
  11. Hongmin Zhang, Shiwei Chen, Xifang Deng, Xuguang Yang and Xi Huang. Danggui–Buxue–Tang decoction has an anti-inflammatory effect in diabetic atherosclerosis rat model. sciencedirect.com. Published November 2006. Retrieved 22 December 2023.
  12. Yi-Chian Wu and Ching-Liang Hsieh. Pharmacological effects of Radix Angelica Sinensis (Danggui) on cerebral infarction. ncbi.nlm.nih.gov. Published 25 August 2011. Retrieved 22 December 2023.
  13. Youngmin Bu, Sungeun Kwon, Yun Tai Kim, Mi-Yeon Kim, Hoyoung Choi, Jae Goo Kim, Nirmala Jamarkattel-Pandit, Sylvain Doré, Sung-Hoon Kim and Hocheol Kim. Neuroprotective effect of HT008-1, a prescription of traditional Korean medicine, on transient focal cerebral ischemia model in rats. pubmed.ncbi.nlm.nih.gov. Published 24 August 2010. Retrieved 22 December 2023.
  14. Shixin Deng, Yuehong Wang, Taichi Inui, Shao-Nong Chen, Norman R Farnsworth, Sanghyun Cho, Scott G Franzblau and Guido F Pauli. Anti-TB polyynes from the roots of Angelica sinensis. pubmed.ncbi.nlm.nih.gov. Published 22 July 2008. Retrieved 22 December 2023.
  15. Kerry Boyle. What is dong quai, and what are its uses? medicalnewstoday.com. Published 8 November 2023. Retrieved 22 December 2023.
shop now