• เมื่อตับอักเสบจะทำให้เป็นพังผืดและตับแข็งซึ่งอันตรายถึงชีวิต โดยแบ่งเป็นตับอักเสบเฉียบพลันที่หายได้ภายใน 6 เดือน และตับอักเสบเรื้อรัง และไม่แสดงอาการจนกว่าจะถึงขั้นตับวาย
  • ตับอักเสบมักมีอาการคือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ มีไข้ อ่อนเพลีย จุกแน่นใต้ชายโครงขวา คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร รวมถึงอาการตัวเหลืองและตาเหลือง ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนสำคัญที่ควรพบแพทย์โดยเร็ว
  • ตับอักเสบมีสาเหตุทั้งจากการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ภาวะไขมันพอกตับ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน การใช้ยาบางประเภท เช่น พาราเซตามอลเกินขนาดหรือยากลุ่ม NSAIDs และการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบทั้ง 5 ชนิด (เอ บี ซี ดี อี)
  • ป้องกันตับอักเสบด้วยการงดแอลกอฮอล์ ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาบางชนิด ตรวจสุขภาพประจำปี ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี กินผักใบเขียว องุ่น เครื่องเทศ และธัญพืชที่มีไฟเบอร์สูง พร้อมกับออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 10-30 นาที เพื่อให้ตับทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่าปล่อยให้ตับของคุณพัง จนย้อนกลับไม่ได้! เพราะตับเสมือนหัวใจดวงที่ 2 ของร่ายกาย จึงไม่ควรละเลย มาเช็กตับอักเสบ จะมีอาการอย่างไร พร้อมวิธีการป้องกันโรค

ตับอักเสบ คืออะไร?

โดยปกติแล้ว ‘ตับ’ ทำหน้าที่ในการควบคุมสารอาหาร ช่วยสังเคราะห์โปรตีน ผลิตสารชีวเคมีที่ช่วยในกระบวนการย่อยอาหาร ช่วยให้ระบบภายในร่างกายทำงานได้ตามปกติ แต่เมื่อเกิดตับอักเสบขึ้นมา ก็จะส่งผลให้ตับเกิดพังผืด หรือมีแผลเป็นในเนื้อตับจนเกิดการอักเสบ และกระจายทั่วตับ จนเกิดภาวะตับแข็ง ส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้ โดยสามารถแบ่งประเภทของตับอักเสบออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่1

  • ตับอักเสบเฉียบพลัน คือ ภาวะที่ตับอักเสบอันเกิดจากหลากหลายสาเหตุ แต่หายได้ในระยะเวลา 6 เดือน
  • ตับอักเสบเรื้อรัง คือ ภาวะที่ตับอักเสบอันเกิดจากหลากหลายสาเหตุมาอย่างยาวนาน และไม่สามารถหายไปเองได้ โดยหากทำการตรวจเลือดจะตรวจพบร่องรอยของการอักเสบ แต่มักไม่แสดงอาการอื่นๆ จนกว่าจะถึงขั้นตับวาย

ตับอักเสบมีอาการอย่างไร?

ตับอักเสบ คือภาวะที่ตับทำงานผิดปกติ จนไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ โดยภาวะตับอักเสบในระยะแรก มักไม่แสดงอาการใดๆ แต่จะพบจากผลตรวจสุขภาพที่บ่งบอกถึงค่าตับที่ผิดปกติ ดังนั้น การตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำเพื่อตรวจสอบสภาพร่างกายว่ายังสมบูรณ์อยู่หรือไม่ โดยตับอักเสบมักมีอาการ ดังนี้

  • มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • อ่อนเพลีย ปวดตามข้อ
  • มีอาการจุกแน่นบริเวณใต้ชายโครงด้านขวา
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีอาการเบื่ออาหาร
  • มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง

ตับอักเสบเกิดจากอะไร?

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบนั้น เกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การกินยา หรือการติดเชื้อไวรัส ก็สามารถทำให้เกิดภาวะตับอักเสบได้เช่นกัน2,3 โดยสามารถแบ่งสาเหตุหลักๆ ได้ ดังนี้

ดื่มแอลกอฮอล์จัด

การดื่มแอลกอฮอล์สามารถก่อให้เกิดโรคตับอักเสบได้ โดยแอลกอฮอล์ที่ดื่มเข้าไปนั้น จะไปทำลายเซลล์ตับ ทำให้เกิดแผลเป็นในตับก่อน เมื่อเกิดแผลเป็นมากขึ้นๆ ก็จะเข้าสู่ภาวะตับอักเสบ เกิดพังผืดในเนื้อตับ จนนำไปสู่ภาวะตับแข็งในที่สุด

ภาวะไขมันพอกตับ

ผู้ที่เป็นโรคไขมันพอกตับมักมีความเสี่ยงที่จะเกิดตับอักเสบได้ง่าย เนื่องจากมีไขมันมาเกาะอยู่บนตับเป็นปริมาณมาก ทำให้เซลล์ตับเกิดการบวม จนเกิดตับอักเสบได้ในที่สุด

ภูมิต้านทานผิดปกติ

ภูมิต้านทานผิดปกติ สามารถทำให้เกิดตับอักเสบได้ โดยร่างกายจะสร้างแอนติเจนเข้าไปทำลายเซลล์ตับ ทำให้เกิดแผลในตับจนเกิดภาวะตับอักเสบในที่สุด ซึ่งในปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยตับอักเสบที่เกิดจากภูมิต้านทานผิดปกติมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึงสามเท่า และพบได้ในทุกวัย

การกินยาบางชนิด

ยาบางชนิดมีส่วนผสมที่ทำให้เกิดตับอักเสบได้ เช่น การกินพาราเซตามอลในปริมาณมากกว่า 200mg ต่อ น้ำหนักตัว 1 kg. ในครั้งเดียว หรือกินยากลุ่มบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal antiinflammatory drugs หรือ NSAIDs) อย่างแอสไพริน ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดตับอักเสบได้เช่นกัน

ตับอักเสบจากไวรัส

ตับอักเสบเกิดจากไวรัสได้เช่นกัน โดยในปัจจุบันมีการพบไวรัสตับอักเสบอยู่ทั้งหมด 5 ชนิด3 ได้แก่

  • ไวรัสตับอักเสบเอ เกิดจากการกินอาหารที่ปนเปื้อน เป็นการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน มักมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ตัวเหลือง ตาเหลือง
  • ไวรัสตับอักเสบบี เกิดจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รอยสัก เข็มฉีดยา การให้เลือด โดยไวรัสตับอักเสบบีมักมีอาการเรื้อรัง ค่อยเป็นค่อยไป และในผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆ จนกว่าจะเกิดการอักเสบที่รุนแรง
  • ไวรัสตับอักเสบซี เกิดจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เข็มฉีดยา รอยสักต่างๆ คล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี สามารถรักษาหายได้ด้วยการกินยาต้านเชื้อไวรัส
  • ไวรัสตับอักเสบดี สามารถติดต่อจากผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเท่านั้น โดยไวรัสตับอักเสบดีเป็นไวรัสที่มีผู้ติดเชื้อน้อยมาก แต่ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้ และอาการตับอักเสบจะมีความรุนแรงกว่าแบบอื่นๆ
  • ไวรัสตับอักเสบอี เกิดจากการกินอาหารที่ปนเปื้อน มักมีอาการแบบเฉียบพลันคล้ายกับไวรัสตับอักเสบเอ เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ตัวเหลือง ตาเหลือง

วิธีป้องกันก่อนจะเป็นตับอักเสบ

วิธีป้องกันก่อนจะเป็นตับอักเสบ

กันไว้ดีกว่าแก้! เพื่อที่ไม่ต้องหาวิธีรักษาตับอักเสบ มาเลือกดูแลป้องกันตับอักเสบไว้ก่อน ดีกว่ารอเป็นแล้วค่อยแก้ทีหลัง แนะนำให้ปฏิบัติตน ดังนี้

งดดื่มแอลกอฮอล์

การหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ช่วยป้องกันตับอักเสบได้ เนื่องจากแอลกอฮอล์จะเข้าไปทำลายเซลล์ตับ ทำให้เกิดแผลในตับ จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์3

ปรึกษาแพทย์ในการกินยาบางชนิด

ยาบางชนิดสามารถก่อให้เกิดตับอักเสบได้ เช่น พาราเซตามอล หรือแอสไพริน ซึ่งเป็นกลุ่มยาต้านการอักเสบ หากกินเกินปริมาณที่เหมาะสม จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยากลุ่มนี้

ตรวจสุขภาพเป็นประจำ

จากที่ได้ทราบกันแล้วว่าโรคตับอักเสบนั้น ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการอื่นๆ จนกว่าจะไปสู่ภาวะตับอักเสบขั้นรุนแรง ดังนั้น การหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ เป็นการตรวจสุขภาพของตับ ว่าตับยังคงทำงานได้ตามปกติหรือไม่

ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส

ในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ และบี แนะนำให้ทุกๆ คนเลือกฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิต้านทาน ลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะตับอักเสบรุนแรง และลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน 

กินอาหารที่ดีต่อตับ

ค่าตับสูงควรกินอะไร? มาเลือกกินอาหารที่ดีต่อตับ เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการป้องกันโรคตับอักเสบ ซึ่งในปัจจุบันมีอาหารที่ช่วยบำรุงตับอยู่มากมาย ได้แก่

ผักใบเขียว

ผักใบเขียว มีสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการสะสมโลหะหนัก และล้างสารเคมีที่สะสมในตับ เช่น ผักตระกูลกระหล่ำอย่างบรอกโคลี ผักคะน้า ดอกกระหล่ำ กระหล่ำปลี ที่มีสารอินโดลช่วยลดโอกาสเกิดไขมันพอกตับได้ หรือเลือกกินอัลมอนต์ที่มีวิตามินอีสูง ลดโอกาสเกิดไขมันพอกตับได้เช่นกัน5

องุ่น

องุ่น อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระประเภท Resveratrol ที่มีส่วนช่วยในการบำรุงสุขภาพ ทำให้สุขภาพตับดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยพบว่าองุ่นสามารถลดความเสี่ยงการเกิดโรคไขมันพอกตับได้อีกด้วย7

เครื่องเทศ

เครื่องเทศบางชนิดอย่างชะเอมเทศ รากโสม กระเทียม ขิง สารสกัดจากชาเขียว และขมิ้นชัน มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยบำรุงสุขภาพตับ ลดความเสี่ยงของโรคที่เกี่ยวกับตับ ไม่ว่าจะเป็นตับอักเสบ ไขมันพอกตับ และยังช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งตับได้อีกด้วย8

ธัญพืช

ธัญพืชที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี ถั่วแดง ถั่วเขียว ช่วยบำรุงตับได้ เนื่องจากไฟเบอร์จะช่วยลดการดูดซึมไขมัน ลดโอกาสเกิดไขมันพอกตับ4

ทั้งนี้สามารถเลือกกินอาหารเสริมเพื่อบำรุงป้องกันตับอักเสบได้เช่นกัน แนะนำให้กินอาหารเสริมร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ตับทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ออกกำลังกาย

การออกกำลังกาย เป็นการเสริมสร้างภูมิต้านทาน ช่วยป้องกันการเกิดตับอักเสบ โดยมีงานวิจัยระบุว่าออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 10 - 30 นาที จะช่วยให้ตับทำงานได้ดียิ่งขึ้น แนะนำให้เลือกออกกำลังกายด้วยการเดินเร็วอย่างน้อย 30 นาที หรือวิ่งช้าๆ อย่างน้อย 15 นาที

โรคตับอักเสบกินอะไรได้บ้าง? รวม 7 เมนูอาหารที่น่าลอง

โรคตับอักเสบกินอะไรได้บ้าง? หากค่าตับสูงควรกินอะไร มาดู 7 เมนูอาหารที่มีประโยชน์ต่อตับกัน

อาหารสำหรับ ผู้ป่วยตับอักเสบ ซุปบรอกโคลีและแคร์รอต

1. ซุปบรอกโคลีและแคร์รอต

ซุปบรอกโคลีและแคร์รอตเป็นเมนูเพื่อสุขภาพที่อุดมด้วยสารอาหารบำรุงตับ ดังนี้ 

  • บรอกโคลี มีสารกลูโคซิโนเลต (Glucosinolates) และซัลโฟราเฟน (Sunforaphane) ช่วยกระตุ้นเอนไซม์ล้างพิษในตับและลดการอักเสบ
  • แคร์รอต อุดมด้วยเบต้าแคโรทีนและวิตามินเอที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระและฟื้นฟูเซลล์ตับที่เสียหาย 
  • หัวหอมและกระเทียม มีสารประกอบกำมะถันที่กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ล้างพิษ 

ขณะที่น้ำซุปผักช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและสารอาหารที่ดูดซึมง่าย เหมาะสำหรับผู้ป่วยตับอักเสบที่ต้องการอาหารย่อยง่าย ไขมันต่ำ และมีสารต้านการอักเสบเพื่อลดภาระการทำงานของตับและสนับสนุนกระบวนการฟื้นฟู

2. ข้าวกล้องกับอกไก่ผัดขิง

ข้าวกล้องกับอกไก่ผัดขิงเป็นเมนูสุขภาพที่อุดมด้วยคุณประโยชน์ ดังนี้ 

  • ข้าวกล้อง มีไฟเบอร์สูงช่วยลดการดูดซึมไขมัน ลดความเสี่ยงไขมันพอกตับ 
  • อกไก่ เป็นโปรตีนคุณภาพสูงที่ย่อยง่าย ไม่สร้างภาระให้ตับมากเกินไป 
  • ขิง มีสารจินเจอรอล (Gingerol) ที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ ช่วยลดการอักเสบในตับ กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยขจัดสารพิษ
  • กระเทียมและพริก มีสารต้านอักเสบ 
  • ผักใบเขียว ที่มีวิตามินและแร่ธาตุสำคัญ 

เมนูนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยตับอักเสบเพราะช่วยบำรุงตับโดยไม่เพิ่มภาระการทำงาน พร้อมทั้งเสริมสารอาหารที่ช่วยฟื้นฟูเซลล์ตับที่เสียหาย

อาหารสำหรับผู้ป่วย ตับอักเสบ สลัดผักใบเขียวรวมกับเนื้อปลา

3. สลัดผักใบเขียวรวมกับเนื้อปลา

สลัดผักใบเขียวรวมกับเนื้อปลาอุดมไปด้วยคุณค่าอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยตับอักเสบ ดังนี้

  • ผักใบเขียว เช่น คะน้า ผักโขม และบรอกโคลี ซึ่งมีคลอโรฟิลล์และสารแอนติออกซิแดนท์ที่ช่วยขจัดสารพิษและลดการอักเสบในตับ 
  • เนื้อปลา เช่น ปลาทะเลน้ำลึกอย่างแซลมอนหรือปลาทูน่ามีกรดไขมันโอเมกา 3 ที่ช่วยลดการอักเสบและป้องกันไขมันสะสมในตับ 
  • น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ที่ใช้เป็นน้ำสลัดมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ช่วยบำรุงตับและลดระดับเอนไซม์ตับ 

อาหารมื้อนี้ย่อยง่าย ไขมันต่ำ แต่ให้โปรตีนคุณภาพสูงและวิตามินที่จำเป็น เหมาะสำหรับผู้ป่วยตับอักเสบที่ต้องการอาหารที่ไม่เป็นภาระต่อการทำงานของตับแต่ยังคงได้สารอาหารครบถ้วน

4. ห่อหมกปลาจาระเม็ด

ห่อหมกปลาจาระเม็ดมีส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยบำรุงตับ ดังนี้

  • ปลาจาระเม็ด ซึ่งอุดมด้วยโปรตีนคุณภาพสูงและโอเมกา 3 ที่ช่วยลดการอักเสบในตับ 
  • กะทิ ที่มีกรดไขมันขนาดกลางช่วยให้ตับทำงานน้อยลงในการย่อย 
  • เครื่องแกง ที่มีขมิ้นช่วยต้านการอักเสบและกระตุ้นการผลิตน้ำดี 
  • ใบโหระพาและใบแมงลัก มีสารแอนติออกซิแดนท์ช่วยขับสารพิษ 

เมนูนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยตับอักเสบเพราะเป็นอาหารย่อยง่าย ไขมันไม่สูงเกินไป มีสารแอนติออกซิแดนท์จากธรรมชาติ และให้พลังงานที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูตับ

5. ซุปผักรวมกับเต้าหู้

ซุปผักรวมกับเต้าหู้มีส่วนประกอบหลักที่ช่วยบำรุงตับให้สุขภาพดี ได้แก่ 

  • ผักใบเขียว เช่น บรอกโคลี ผักคะน้า ผักโขม ที่อุดมด้วยคลอโรฟิลล์และวิตามินซีช่วยขจัดสารพิษในตับ
  • เต้าหู้ ที่มีโปรตีนคุณภาพสูงแต่ไขมันต่ำช่วยฟื้นฟูเซลล์ตับโดยไม่เพิ่มภาระการทำงานของตับ
  • แคร์รอตและฟักทอง ที่มีเบต้าแคโรทีนช่วยต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบ
  • กระเทียมและขิง ที่มีสารแอนติออกซิแดนท์ ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ในตับ

น้ำซุปใสไม่มีไขมันจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเหลวในร่างกายและช่วยขับสารพิษ ซุปนี้จึงเหมาะกับผู้ป่วยตับอักเสบเพราะย่อยง่าย ให้สารอาหารที่จำเป็นโดยไม่เพิ่มภาระให้ตับ และมีสารแอนติออกซิแดนท์ที่ช่วยฟื้นฟูการทำงานของตับอีกด้วย

สลัดผลไม้รวมกับน้ำมันมะกอก

6. สลัดผลไม้รวมกับน้ำมันมะกอก

สลัดผลไม้รวมประกอบด้วยผลไม้หลากหลายชนิดกับน้ำมันมะกอกที่มีประโยชน์ต่อตับ ดังนี้ 

  • ผลไม้รวม เช่น แอปเปิล องุ่น ส้ม และเบอร์รีต่างๆ ที่อุดมด้วยวิตามินซีและสารแอนติออกซิแดนท์ช่วยลดการอักเสบของตับ 
  • น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ที่มีกรดไขมันโอเมกา 9 และสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ช่วยลดไขมันในตับและกระตุ้นการผลิตน้ำดี 

ไฟเบอร์จากผลไม้ช่วยดีท็อกซ์สารพิษในร่างกาย ส่วนวิตามินจากผลไม้สดช่วยซ่อมแซมเซลล์ตับที่เสียหาย เมนูนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยตับอักเสบเพราะเป็นอาหารย่อยง่าย ไม่เพิ่มภาระการทำงานของตับ ช่วยลดการอักเสบ และสนับสนุนกระบวนการฟื้นฟูตับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

7. ข้าวกล้องผัดผักรวมกับเห็ด

ข้าวกล้องผัดผักรวมกับเห็ดประกอบด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อตับ ดังนี้

  • ข้าวกล้อง ที่อุดมด้วยไฟเบอร์ช่วยลดการดูดซึมไขมัน 
  • ผักใบเขียว อย่างคะน้าหรือบรอกโคลีที่มีสารแอนติออกซิแดนท์ช่วยล้างสารพิษในตับ 
  • เห็ด ที่มีสารเบต้ากลูแคน (Beta Glucan) เสริมภูมิคุ้มกันและลดการอักเสบ 
  • ขิงหรือกระเทียม ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ 

อาหารจานนี้มีไขมันต่ำแต่คุณค่าทางอาหารสูง จึงช่วยลดภาระการทำงานของตับ เหมาะสำหรับผู้ป่วยตับอักเสบที่ต้องการอาหารที่ย่อยง่าย ไม่ระคายเคืองตับ แต่ยังคงให้สารอาหารที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูเซลล์ตับที่ถูกทำลาย

คนเป็นตับอักเสบมีวิธีดูแลตัวเองยังไง?

การดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยโรคตับอักเสบมีดังนี้

  • ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสารประกอบในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะขัดขวางการทำงานของตับ ทำให้ไขมันสะสมในเซลล์ตับมากขึ้นจนเกิดเป็นไขมันพอกตับ และหากตับเกิดการอักเสบเรื้อรังจะนำไปสู่การเกิดโรคตับแข็ง และมะเร็งตับได้ในที่สุด
  • ลดการกินอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน เนย ครีมเปรี้ยว และผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันสูง การกินไขมันมากเกินไปจะเพิ่มภาระให้ตับที่ป่วยอยู่แล้ว ทำให้ตับต้องทำงานหนักขึ้น ไขมันสูงอาจทำให้เกิดการสะสมไขมันในตับ (Fatty Liver) ซึ่งจะยิ่งทำให้สภาวะของตับแย่ลง
  • ลดอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม คุกกี้ น้ำหวาน และเบเกอรี่ต่างๆ เพราะการกินน้ำตาลมากเกินไปสามารถเปลี่ยนเป็นไขมันและสะสมในตับได้ (De Novo Lipogenesis) น้ำตาลสูงอาจเพิ่มการอักเสบในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้ภาวะตับอักเสบรุนแรงขึ้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับที่มีคุณภาพช่วยให้ร่างกายและตับได้ซ่อมแซมตัวเอง ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ควรนอนหลับอย่างน้อย 7 - 8 ชั่วโมงต่อคืน9
  • หลีกเลี่ยงสารพิษและมลพิษ ลดการสัมผัสสารเคมีในบ้านและที่ทำงาน รวมถึงควันบุหรี่ สารกำจัดศัตรูพืช และสารทำความสะอาดที่มีสารเคมีรุนแรง
  • เลี่ยงกินอาหารค้างคืนหรืออาหารเก่าเก็บ เพราะอาจมีสารเคมีและสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตราย เช่น สารโลหะหนักหรือสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการเก็บไว้นานเกินไป การกินอาหารที่ปรุงสดใหม่จึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าสำหรับสุขภาพ9
  • ลดการกินอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากมีสารกันบูดที่อาจส่งผลเสียต่อการทำงานของตับ เมื่อร่างกายได้รับสารกันเสียมากเกินไป ตับจะทำงานหนักและประสิทธิภาพในการกำจัดของเสียออกจากร่างกายจะลดลง9
  • จัดการความเครียด ความเครียดเรื้อรังส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกันและการทำงานของตับ ใช้เทคนิคผ่อนคลาย เช่น การหายใจลึกๆ การทำสมาธิ หรือกิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย
  • ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ไปพบแพทย์ตามนัดและทำการตรวจเลือดตามที่แพทย์แนะนำเพื่อติดตามการทำงานของตับและการตอบสนองต่อการรักษา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดอาจเป็นพิษต่อตับหรือมีปฏิกิริยากับยาที่รักษาตับอักเสบ

สรุป

ตับ เป็นอวัยวะที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย อีกทั้งยังมีหน้าที่ที่หลากหลาย ทั้งช่วยควบคุมสารอาหาร สร้างสารอาหารที่จำเป็น และยังช่วยขจัดของเสียออกจากร่างกายอีกด้วย ซึ่งหากตับได้รับความเสียหาย จนเกิดตับอักเสบ ก็จะส่งผลต่อระบบต่างๆ ภายในร่างกายได้ จึงควรดูแล ‘ตับ’ ให้ดี หมั่นตรวจเช็กร่างกายอยู่เสมอ กินอาหารที่ดี และเสริมด้วยวิตามินที่มีประโยชน์เพื่อบำรุงให้ร่างกายของเรานั้นอยู่กับเราไปได้อีกนานแสนนาน

shop now