คุณกินโปรตีนเพียงพอหรือยัง? เพราะถ้าร่างกายขาดโปรตีนอาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย บวมน้ำ ผม เล็บ ผิวหนังไม่แข็งแรง อารมณ์แปรปรวน และยังเสี่ยงเป็นไขมันพอกตับได้

อาการขาดโปรตีน เป็นอย่างไร 

หากคุณไม่แน่ใจว่าตัวเองนั้นกำลังอยู่ในอาการขาดโปรตีนหรือไม่ ลองมาดูวิธีสังเกตอาการขาดโปรตีนด้วยตัวเองได้ง่ายๆ หากมีอาการเหล่านี้ นั่นแปลว่าร่างกายอาจขาดโปรตีน โดยจะมีอาการดังนี้

อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

อาการอ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ เป็นอาการที่บ่งบอกว่าร่างกายของเรานั้นเหนื่อยล้า ไม่มีแรงทำสิ่งต่างๆ ขาดพลังงานในการขยับร่างกาย มีอาการง่วงนอนตลอดเวลา ซึ่งสามารถพบได้บ่อยกับทุกเพศทุกวัย  โดยมีสาเหตุจากโรคทางสุขภาพจิต หรือบางคนก็มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้พฤติกรรมการกินก็ส่งผลทำให้ร่างกายอ่อนเพลียได้เช่นกัน เพราะรับสารอาหารไม่เพียงพอต่อร่างกาย หากขาดโปรตีนมากเกินไป จะทำให้การสร้างพลังงานต่อร่างกายนั้นต่ำลง จนทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลียได้ง่าย ดังนั้นนอกจากการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้ว ยังต้องเสริมโปรตีนให้เหมาะสมกับการใช้พลังงานของร่างกายด้วย1 ถึงแม้ว่าจะกินอาหารในปริมาณมาก แต่เมนูอาหารที่ไม่มีโปรตีน หรือมีโปรตีนต่ำ จะส่งผลให้เกิดไขมันสะสมในตับได้ และยังทำให้ประสิทธิภาพในการสร้างพลังงานลดลง ซึ่งการกินอาหารที่มีโปรตีนสูง จะช่วยเสริมสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย ส่งผลให้อิ่มง่าย และควบคุมระดับของน้ำตาลได้อีกด้วย2

อาการบวมน้ำ

อาการบวมน้ำจะมีลักษณะอาการใบหน้า ฝ่ามือ เท้า หรือตัวของเราดูบวมๆ อาการบวมน้ำเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้น คือการกินอาหารที่ไม่มีโปรตีน หรือมีโปรตีนในปริมาณที่ต่ำ ส่งผลให้เกิดภาวะขาดโปรตีนได้ ซึ่งจะส่งผลให้ภาวะอัลบูมินในเลือดต่ำ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดต่ำ ร่างกายจึงต้องทำการกักเก็บโซเดียมและน้ำเอาไว้ จึงเป็นผลทำให้เกิดอาการบวมน้ำได้3

ผม เล็บ และผิวหนังไม่แข็งแรง

โปรตีนเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของผม เล็บและผิวหนัง โดยโปรตีนในเส้นผมคือเคราติน ปริมาณโปรตีนที่ไม่เพียงพอมีส่วนทำให้การเจริญเติบโตของเส้นผม และการซ่อมแซมเส้นผมนั้นมีประสิทธิภาพที่ต่ำลง ทำให้ผมร่วงได้ ส่วนการขาดโปรตีนในเล็บอาจทำให้เล็บเปราะ ฉีกง่าย และไม่แข็งแรงได้ นอกจากนี้ คอลลาเจนและอีลาสตินก็เป็นโปรตีน 2 ชนิดที่สำคัญต่อการสร้างผิวหนังใหม่ ซึ่งต้องอาศัยโปรตีนในอาหาร หากได้รับโปรตีนไม่เพียงพอจะส่งผลให้ผิวแห้งแตกได้ง่าย4

ภาวะสูญเสียกล้ามเนื้อ

ภาวะสูญเสียกล้ามเนื้อเป็นภาวะที่ร่างกายนั้นมีไขมันมากเกินไป  และมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อน้อยลง ทำให้ทรงตัวได้ไม่ดี เซได้ง่าย น้ำหนักลดลง เหนื่อยล้าง่าย ซึ่งเกิดจากการที่กล้ามเนื้อได้รับโปรตีนในปริมาณที่ไม่เพียงพอ ร่างกายจึงนำโปรตีนที่สะสมไว้ที่กล้ามเนื้อลายมาใช้ ส่งผลให้กล้ามเนื้อเล็กลง5

มีความอยากอาหารมากขึ้น

เป็นสัญญาณของอาการขาดโปรตีนที่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ เมื่อร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ กลไกของร่างกายจะกระตุ้นให้รู้สึกอยากอาหารมากขึ้น หิวบ่อยขึ้น มีผลทำให้น้ำหนักขึ้นได้ เนื่องจากโปรตีนนั้นถือเป็น 1 ใน 3 แหล่งพลังงานหลักของร่างกาย เมื่อขาดโปรตีนจะไม่มีพลังงานไปหล่อเลี้ยงร่างกายเพียงพอ ทำให้ร่างกายต้องการพลังงานมากขึ้น จึงทำให้ยังรู้สึกอยากอาหารอยู่ จากการวิจัยพบว่ามีผู้สูงอายุมีความอยากอาหารมากขึ้น หลังจากพบว่าได้รับโปรตีนในปริมาณที่ไม่เพียงพอ6

ปัจจัยที่ทำให้ร่างกายขาดโปรตีน

แม้ว่าเราจะกินอาหารเหมือนเดิม แต่ก็ยังเกิดภาวะขาดโปรตีนได้ ซึ่งยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ร่างกายขาดโปรตีน มีดังนี้

  • อายุที่มากขึ้น ส่งผลให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าเดิม หลอดอาหาร และกระเพาะอาหารทำงานได้ช้าลง ทำให้การดูดซึมสารอาหารต่างๆ ลดลงด้วย เช่น โปรตีน แคลเซียม เป็นต้น7
  • การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและมวลกระดูกจากอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้การสร้างอัลบูมินซึ่งเป็นโปรตีนที่สร้างจากตับลดลง จึงทำให้เกิดภาวะขาดโปรตีนได้7
  • ปัญหาสภาพแวดล้อม เช่น ขาดสื่อความรู้ในการบริโภคอาหารการกิน
  • ปัญหาด้านสภาพจิตใจ เช่น การถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียว หรือการเจอเรื่องที่มีผลต่อจิตใจ ส่งผลให้ไม่อยากอาหารได้ ทำให้ได้รับสารอาหารน้อยลงได้7
  • ปัญหาภาวะทางร่างกาย เช่น ฟันผุ การรับรู้รสชาติที่น้อยลง ซึ่งส่งผลทำให้ไม่อยากกินอาหารได้ ทำให้ได้รับสารอาหารน้อยลง7

ทำไมคนเราถึงไม่ควรขาดโปรตีน

ทำไมคนเราถึงไม่ควรขาดโปรตีน

ภาวะขาดโปรตีนส่งผลเสียให้กับร่างกายมากกว่าที่เราคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เพราะหากร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ จะส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย อาจทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งเหตุผลหลักๆ ที่ควรได้รับโปรตีนที่เพียงพอ มีดังนี้

ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่าย

การขาดโปรตีนส่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานลดลง ส่งผลให้ติดเชื้อได้ง่ายมากขึ้น เพราะโปรตีนมีบทบาทต่อการทำงานของน้ำเหลือง และระบบเซลล์ที่ช่วยในการทำลายสิ่งแปลกปลอม อีกทั้งยังป้องกันเชื้อโรค และมีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่สร้างแอนติบอดี ซึ่งจะคอยกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ภูมิคุ้มกัน ดังนั้น เมื่อขาดโปรตีน ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้น้อยลง ร่างกายก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย หรืออาการของโรคนั้นจะรุนแรงกว่าเดิม7

เกิดภาวะไขมันพอกตับ

เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำไขมันที่กินไปใช้ได้หมด จึงสะสมเป็นไขมันในรูปไตรกลีเซอไรด์ในเซลล์ตับ12 ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา จะส่งผลให้เป็นโรคไขมันพอกตับ ทำให้เกิดตับอักเสบเป็นแผล ภาวะไขมันพอกตับพบได้บ่อยในคนอ้วน และผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากๆ ซึ่งในกรณีของการขาดโปรตีนยังไม่ชัดเจนนัก แต่จากการศึกษาพบว่า การสังเคราะห์โปรตีนเพื่อขนส่งไขมันที่บกพร่อง หรือเรียกว่าไลโปโปรตีน อาจส่งผลทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับได้13

ทำให้กระดูกไม่แข็งแรง

โปรตีนนับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของกล้ามเนื้อ และกระดูก กระดูกถูกสร้างมาจากโปรตีนชนิดคอลลาเจนเป็นหลัก ดังนั้นการที่เกิดการขาดโปรตีนจึงสามารถทำให้มวลกล้ามเนื้อและกระดูกลดลง ซึ่งจะทำให้รู้สึกเหนื่อยและอ่อนล้าได้ง่าย โปรตีนนั้นอุดมไปด้วยแคลเซียมที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของกระดูก โดยมวลกระดูกหรือความหนาแน่นของมวลกระดูกส่วนใหญ่จะเกิดจากกรรมพันธุ์ การบริโภคโปรตีนให้เพียงพอจะเพิ่มศักยภาพในการสร้างมวลกระดูกได้ 

นอกจากนี้โปรตีนยังมีความสำคัญต่อการบำรุงรักษากระดูกในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน หากได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ จะเพิ่มความเสี่ยงให้กระดูกอ่อนแอ และแตกหักได้ง่ายขึ้น10

อารมณ์แปรปรวน

สมองของมนุษย์ใช้สารเคมีที่เรียกว่าสารสื่อประสาท เพื่อใช้ถ่ายทอดข้อมูลระหว่างเซลล์ ซึ่งสารสื่อประสาทเหล่านี้ มาจากกรดอะมิโนซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของโปรตีน ดังนั้นภาวะขาดโปรตีนจะส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถสร้างสารสื่อประสาทได้เพียงพอ ซึ่งจะทำให้สมองเปลี่ยนการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีโดปามีน และเซโรโทนินในระดับที่ต่ำ สมองอาจทำให้เรารู้สึกหดหู่ หรือก้าวร้าวมากเกินไป11

แต่ละวัน ควรรับโปรตีนปริมาณเท่าไร

โดยปกติ ร่างกายคนเราจะมีความต้องการโปรตีนที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย และช่วงอายุ รวมถึงมวลกล้ามเนื้อ และพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ อีกด้วย

  • โดยในเบื้องต้น บุคคลทั่วไปให้คำนวณปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับในแต่ละวันคร่าวๆ จากน้ำหนักตัว โดยให้กินโปรตีนให้ได้ปริมาณ 0.8-1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ยกตัวอย่างเช่น น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ควรกินโปรตีนให้ได้ประมาณ 40-50 กรัมต่อวัน6
  • กรณีที่เป็นนักกีฬา หรือบุคคลที่ต้องการเพิ่มกล้ามเนื้อ อาจจะต้องกินโปรตีนเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าประมาณ 1.5-3 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ยกตัวอย่างเช่น น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ควรกินโปรตีนให้ได้ประมาณ 100-150 กรัม6
  • สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง โปรตีนที่ควรได้รับจะอยู่ที่ 1-1.2 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
  • สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรได้รับโปรตีน 1.1-1.3 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เป็นปริมาณที่ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะขาดโปรตีน และเพื่อบำรุงให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ11
  • ในกลุ่มผู้ที่ป่วยโรคไตเรื้อรัง และผู้ป่วนที่มีอาการขาดโปรตีน ควรกินโปรตีนประมาณ 0.6-0.8 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ด้วย11

ทำอย่างไรให้ได้โปรตีนอย่างเพียงพอ

ทำอย่างไรให้ได้โปรตีนอย่างเพียงพอ

หลังจากที่ได้ทราบถึงผลกระทบหากร่างกายขาดโปรตีนแล้ว มาดูว่าควรทำอย่างไรถึงจะได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอ ซึ่งมี 3 วิธีหลักๆ ที่ช่วยเพิ่มโปรตีนให้กับร่างกาย ดังนี้

เพิ่มโปรตีนในแต่ละมื้อด้วยไข่ขาว

ไข่ไก่ 1 ฟองให้โปรตีนถึง 7 กรัม การกินเฉพาะไข่ขาว 1 ฟอง จะได้โปรตีนอยู่ที่ดี 4 กรัม ซึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มโปรตีนสร้างกล้ามเนื้อให้ร่างกาย ควรกินเฉพาะไข่ขาว เพราะร่างกายต้องการโปรตีนไขมันต่ำ ถ้าหากกินไข่แดงเยอะจะส่งผลให้ได้รับไขมัน และคอเลสเตอรอลสูง ดังนั้นถ้าหากสำหรับคนที่น้ำหนักตัว 70 กิโลกรัมจะต้องกินไข่ทั้งฟอง 10 ฟอง หรือไข่ขาว 18 ฟอง ซึ่งนั่นอาจจะเยอะเกินไป เพราะฉะนั้นควรนำไปประกอบกับอาหารชนิดอื่นเพื่อให้ได้สารอาหารครบ 5 หมู่14

กินโปรตีนเชค

โปรตีนเชคก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกช่วยเสริมโปรตีน หากเป็นโปรตีนจากพืช ก็จะย่อยง่าย และยังควบคุมปริมาณโปรตีนให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายได้อีกด้วย ผู้ที่ต้องการควบคุมอาหาร ลดน้ำหนัก จึงนิยมใช้โปรตีนเชคเป็นตัวช่วยนอกจากการปรับพฤติกรรมอื่นๆ

จากการศึกษาในปี 2018 ของผู้ที่เป็นโรคอ้วน และมีน้ำหนักเกิน ทำการกินโปรตีนเชคแทนอาหารเย็น 388 แคลอรีเป็นเวลา 12 สัปดาห์ มีการลดของดัชนีมวลกายมากขึ้น และน้ำหนักลดมากกว่าผู้ที่กินอาหารเย็นปกติ โดยมีค่าเฉลี่ยคือ สำหรับผู้ที่กินโปรตีนเชคแทนอาหารเย็น น้ำหนักลดประมาณ 4.5 กิโลกรัม ขณะที่ผู้ที่กินอาหารเย็นปกติน้ำหนักลดไปเพียง 1 กิโลกรัม15 ซึ่งอาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เสริมโปรตีนที่มาจากพืช เพื่อลดการบริโภคโปรตีนจากสัตว์ได้

กินอกไก่ เพราะเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี

อกไก่นับว่าเป็นเมนูยอดฮิตสำหรับคนต้องการควบคุมอาหาร และยังเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี อกไก่ให้พลังงานสูง มีโปรตีนจำนวนมาก แต่ไขมันน้อย  เนื้ออกไก่ที่ไม่มีหนัง 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 120 แคลอรี และให้โปรตีนสูงขึ้น 22.50 กรัม ไขมันเพียง 2.62 กรัม แถมยังปราศจากน้ำตาล และยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกมากมาย เช่นแคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม เป็นต้น17  ทั้งนี้อกไก่จะช่วยลดไขมันในร่างกาย ลดน้ำหนักตัว ช่วยเพิ่มพลังงานให้ร่างกาย และยังทำให้สุขภาพแข็งแรง เสริมสร้างกล้ามเนื้อให้ไม่ล้าง่ายจนเกินไป17

สรุป

โปรตีนเป็นสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย เพราะโปรตีนให้พลังงานแก่ร่างกาย ช่วยในการเจริญเติบโต และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และยังช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ กระดูก ผิวของร่างกาย หากร่างกายขาดโปรตีนมากไป จะส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้า เหนื่อยง่าย สูญเสียกล้ามเนื้อ และส่งผลให้อ้วนขึ้นได้อีกด้วย อย่างร้ายแรงอาจจะส่งให้เกิดโรครุนแรงได้ ซึ่งเมื่อเราสังเกตว่าตัวเรานั้นมีอาการขาดโปรตีน ควรปรับอาหารการกินใหม่ ให้เน้นโปรตีนที่เหมาะสมกับการใช้พลังงานของร่างกาย เช่น ไข่ขาว อกไก่ หรือโปรตีนเชค และอย่าลืมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ให้เกิดความสมดุลในร่างกาย

shop now