|
กำลังรู้สึกแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจไม่สะดวกอยู่ใช่ไหม? อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจ แม้จะมีอาการเป็นๆ หายๆ แต่อย่าเพิ่งมองข้าม เพราะอาการอาจรุนแรงได้
แน่นหน้าอกแบบไหน อันตราย?
อาการแน่นหน้าอกมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท แต่ละประเภทมีสาเหตุและความรุนแรงแตกต่างกัน ดังนี้
- อาการหายใจลำบากเฉียบพลัน เป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมง อาจมีสาเหตุมาจากการออกกำลังกายอย่างหนัก ความเครียด วิตกกังวล ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เกิดอาการแพ้รุนแรงเฉียบพลัน ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
- อาการหายใจลำบากเรื้อรัง จะมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกต่อเนื่องนานกว่า 2 - 3 สัปดาห์ อาจมีสาเหตุจากโรคภูมิแพ้เรื้อรัง ภาวะความดันโลหิตสูงในหลอดเลือดปอด โรคหัวใจล้มเหลว หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- อาการหายใจลำบากขณะนอนหลับ หรือ Paroxysmal Nocturnal Dyspnea: PND เป็นอาการที่ผู้ป่วยรู้สึกหายใจติดขัด หายใจลำบากในช่วงกลางคืน ส่งผลให้ต้องตื่นขึ้นมากะทันหันเพื่อหายใจ
- อาการถอนหายใจบ่อยจากภาวะหายใจลำบาก ผู้ที่มีอาการหายใจลำบากจะรู้สึกหายใจเข้าไม่เต็มปอด ทำให้ต้องสูดลมหายใจลึกๆ เพื่อเพิ่มปริมาณอากาศในปอดและบรรเทาความรู้สึกอึดอัด
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการหายใจลำบากหรือหายใจติดขัดแม้จะพักเป็นเวลา 30 นาที ริมฝีปาก ผิวหนัง หรือเล็บเปลี่ยนเป็นสีเขียว รู้สึกเจ็บหรือแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ข้อเท้าหรือเท้ามีอาการบวม การหายใจมีเสียงผิดปกติหรือมีเสียงหวีด รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้สูง ถือเป็นสัญญาณอันตราย1
เมื่อเกิดอาการห้ามนอนราบลงกับพื้น ห้ามฝืนออกแรง ห้ามกลั้นหายใจ ห้ามหายใจเร็วเกินไป ห้ามพยายามรักษาด้วยการกินยาแก้ปวดเอง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาทันที1 แต่ในขณะระหว่างรอพบแพทย์ สิ่งที่ควรทำคือหาที่นั่งในท่าที่สบาย โดยเฉพาะท่านั่งพิงพนัก หยุดทำกิจกรรมทุกอย่างเพื่อลดภาระของหัวใจ อาจใช้ยาดมกลิ่นหอมเพื่อบรรเทาอาการหน้ามืดหรือวิงเวียนเบื้องต้น และนวดหน้าอกเบาๆ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
ที่สำคัญควรโทรเรียกรถพยาบาลทันที โดยเฉพาะหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 5 นาที เพราะอาการแน่นหน้าอกอาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว
แน่นหน้าอกเกิดจากอะไร?
อาการแน่นหน้าอก หายใจลำบากเกิดขึ้นมาได้จากหลายสาเหตุดังนี้
หัวใจทำงานผิดปกติ
คนที่มีหัวใจทำงานผิดปกติจากการเป็นโรคต่างๆ เช่น มีอาการเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หัวใจวายเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอกได้ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก แผ่ไปยังแขนซ้าย คอ หรือกราม รู้สึกเจ็บแปลบหรือปวดตื้อ หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว รวมถึงมีอาการบวมที่ขา เท้า และข้อเท้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของโรคที่เป็น2,3
ปอดผิดปกติ
ภาวะที่มีความผิดปกติของปอด เช่น ปอดอักเสบ ปอดบวม ลมรั่วในเยื่อหุ้มปอด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง จะส่งผลต่อการทำงานของระบบหายใจ ผู้ป่วยมักมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก มีอาการไอ หายใจมีเสียงหวีดและเหนื่อยง่าย2
ภาวะทางจิตใจและความเครียด
ความเครียดและความวิตกกังวลโดยเฉพาะคนที่มีอาการแพนิค (Panic Attack) สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการแน่นหน้าอกได้ เมื่อร่างกายเผชิญกับความเครียดจะตอบสนองตามกลไกการต่อสู้หรือหนี (Fight-or-Flight) ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจตื้นขึ้น ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังอาจทำให้รู้สึกปวดแน่นบริเวณหน้าอกเนื่องจากการหดตัวของหลอดเลือดและกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก2
ปัจจัยอื่นๆ
อาการแน่นหน้าอก หายใจลำบากยังเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น โรคในระบบทางเดินอาหาร ปัญหาเกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมหนัก เกิดการบาดเจ็บบริเวณหน้าอก ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บแน่นบริเวณหน้าอก รู้สึกหายใจลำบาก อาการเจ็บจะมากขึ้นเมื่อขยับตัวหรือหายใจลึกๆ และอาจเกิดอาการแสบร้อนหน้าอกร่วมด้วยหากมีสาเหตุจากระบบย่อยอาหาร2,3

แน่นหน้าอก หายใจลำบาก สัญญาณของโรคอะไรบ้าง?
อาการแน่นแน่นหน้าอก หายใจลำบากอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือปัญหาสุขภาพมากมาย ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้
1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease) เป็นภาวะที่มีการสะสมของคราบไขมันหรือพลัค (Plaque) บริเวณผนังหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้หลอดเลือดตีบแคบหรืออุดตัน เลือดจึงไหลผ่านได้น้อย ส่งผลทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดหัวใจล้มเหลวได้
ในระยะแรกของโรคผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการชัดเจน แต่เมื่อมีการสะสมของพลัคมากขึ้นจะเริ่มมีอาการแน่นหรือเจ็บบริเวณหน้าอก โดยเฉพาะเมื่อออกแรงหรือมีความเครียด มีอาการหายใจลำบาก หากอาการรุนแรงขึ้น อาจเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack) ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแน่นหน้าอกร้าวไปยังหัวไหล่หรือแขน มีอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ และคลื่นไส้ 2,4
2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมีสาเหตุมาจากหลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจเกิดตีบแคบลงจากการสะสมของไขมัน มีการแข็งตัวและสูญเสียความยืดหยุ่น ทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ส่งผลให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหรือจุกแน่นกลางอก ปวดร้าวไปกราม สะบักหลัง แขนซ้าย และหัวไหล่ รู้สึกหนัก อึดอัดคล้ายถูกบีบรัด เหงื่อออกมาก เหนื่อยและหายใจลำบาก5
3. ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอดเป็นภาวะที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและการไหลเวียนโลหิตของร่างกาย ผู้ป่วยมักมีอาการหอบ หายใจลำบาก รู้สึกเหนื่อยง่าย ไอ มีอาการเจ็บหรือหายใจแล้วแน่นอก โดยอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อหายใจเข้าลึกๆ ขณะไอ กินอาหาร หรืออยู่ในท่าโค้งหรืองอตัว เมื่อมีการออกแรงจะทำให้อาการทรุดลงและความเจ็บแน่นบริเวณหน้าอกจะไม่บรรเทาลงแม้ว่าผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะพักก็ตาม6
4. ภาวะกล้ามเนื้อหน้าอักเสบ
ภาวะกล้ามเนื้อหน้าอักเสบเป็นสาเหตุให้เกิดการแน่นหน้าอกได้ โดยมักมีอาการเจ็บหน้าอกแปลบๆ จุก หน้าอกซ้ายและขวา เจ็บบริเวณกลางอกใกล้กับซี่โครง จะเจ็บมากขึ้นเมื่อไอหรือจาม เป็นอาการบาดเจ็บที่พบบ่อยในนักกีฬา ทั้งระหว่างฝึกซ้อมหรือแข่งขันที่มีการใช้งานกล้ามเนื้ออย่างหนัก มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บซ้ำได้สูงและมักมีอาการปวดเรื้อรังในระยะยาว4,6
5. ภาวะซี่โครงอักเสบ
ภาวะซี่โครงอักเสบ (Costochondritis) เป็นภาวะที่เกิดการอักเสบบริเวณกระดูกอ่อนซึ่งเชื่อมต่อระหว่างกระดูกซี่โครงส่วนบนกับกระดูกอก อาจมีสาเหตุมาจากการบาดเจ็บบริเวณหน้าอก ผลข้างเคียงจากโรคไขข้ออักเสบ การติดเชื้อหรือมีเนื้องอกที่ข้อต่อซี่โครง ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บ ปวดแน่น หรือไม่สบายบริเวณหน้าอก โดยเฉพาะเมื่อหายใจเข้าลึกๆ เคลื่อนไหวร่างกาย หรือยืดกล้ามเนื้อ2,4
6. โรคหอบหืด
โรคหอบหืดเกิดจากเยื่อบุและผนังหลอดลมตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ สารเคมี ควันบุหรี่ไวกว่าปกติ รวมถึงการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้หลอดลมอักเสบ ตีบแคบ และบวม ผู้ที่เป็นหอบหืดมักรู้สึกแน่นอก หายใจไม่สะดวกหรือมีเสียงหวีดขณะหายใจ ไอ โดยอาการอาจรุนแรงมากขึ้นเมื่อต้องทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก เช่น ออกกำลังกาย หรือเมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่แห้งและเย็น2
7. โรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหาร ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร เมื่อกล้ามเนื้อนั้นอ่อนแอลงหรือทำงานผิดปกติ กรดในกระเพาะอาหารจึงไหลย้อนขึ้นมาสู่หลอดอาหาร คอหอย หรือปาก
ส่งผลให้เกิดความระคายเคืองและอาการต่างๆ เช่น รู้สึกแสบร้อนบริเวณกลางอก (Heartburn) อาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก เรอเปรี้ยว และกลืนลำบาก หากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้2
8. โรคงูสวัด
โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ผู้ป่วยที่เป็นโรคงูสวัดโดยเฉพาะบริเวณผิวหนังหน้าอกจะรู้สึกคันและมีอาการผิวหนังอักเสบ รวมทั้งมีอาการเจ็บแปลบๆ ที่บริเวณหน้าอก หากพบว่ามีอาการดังกล่าวควรรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็วเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น5,6
วิธีป้องกันและการดูแลตัวเอง
การป้องกันและดูแลตัวเองด้วยวิธีที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยลดโอกาสในการเกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบากจากโรคหัวใจรวมทั้งลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง ยังช่วยส่งเสริมให้สุขภาพหัวใจและสุขภาพโดยรวมแข็งแรงได้อีกด้วย
ปรับพฤติกรรมการกิน
การปรับพฤติกรรมการกินช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอกได้ โดยควรเริ่มจากการกินอาหารมื้อเล็กแต่บ่อยครั้งแทนมื้อใหญ่ หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นกรดไหลย้อน เช่น อาหารมันทอด อาหารรสจัด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นหรือชาสมุนไพร เคี้ยวอาหารให้ละเอียดและกินช้าๆ หลีกเลี่ยงการนอนราบทันทีหลังกินอาหาร ควรรอ 2 - 3 ชั่วโมงและนอนหนุนหมอนสูงเพื่อป้องกันกรดไหลย้อน
นอกจากนี้ การเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีผลเสียต่อหัวใจจะช่วยลดความเสี่ยงในการแน่นหน้าอกที่เกิดจากโรคหัวใจได้ โดยอาหารที่มีสารอาหารช่วยป้องกันและเสริมสร้างสุขภาพของหัวใจ ได้แก่
กรดไขมันกลุ่มโอเมกา 3
กรดไขมันกลุ่มโอเมกา 3 เป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (PUFAs) ที่มีความสำคัญต่อการทำงานของสมอง ระบบหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการเจริญเติบโตของร่างกาย ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL) ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ป้องกันไขมันอุดตันในเส้นเลือด ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดในหลอดเลือด ป้องกันการอุดตันในหลอดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหัวใจ สารอาหารชนิดนี้พบได้มากในปลา เช่น ปลาแซลมอน ปลาทะเล น้ำมันปลา เป็นต้น7
อัลลิซิน (Allicin)
อัลลิซิน (Allicin) เป็นสารที่พบมากในกระเทียม ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและช่วยสมานแผล ยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือด ช่วยลดความดันโลหิต และเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ช่วยลดความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดอุดตัน ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบากจากโรคหัวใจ8
โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10)
โคเอนไซม์คิวเทนเป็นสารแอนติออกซิแดนท์ที่พบในส้มและแหล่งอาหารอื่นๆ เช่น เนื้อแดงและธัญพืช ช่วยเพิ่มพลังงานในเซลล์ บำรุงหลอดเลือดและช่วยเรื่องการทำงานของหัวใจ ลดความเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว และบรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคหัวใจได้9
ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ อาหารที่มีไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ขนมขบเคี้ยว เบเกอรี่ ของทอด อาหารแปรรูป และอาหารประเภทน้ำตาลและแป้ง เช่น ขนมหวาน น้ำอัดลม ข้าวขัดขาว เป็นต้น
ปรับพฤติกรรมการนอน
การพักผ่อนอย่างเพียงพอช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบากจากโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคหัวใจได้ ในวัยผู้ใหญ่ควรนอนหลับแบบมีประสิทธิภาพอย่างน้อย 6 - 8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้เต็มที่ อาจนอนด้วยท่าตะแคงข้างใดข้างหนึ่ง หนุนหมอนสูง แล้วใช้ขาหนีบหมอนอีกใบ หรือนอนหงายหนุนหมอนสูง แล้วใช้หมอนอีกใบรองใต้เข่า10
ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมช่วยป้องกันอาการแน่นหน้าอก โดยควรเริ่มต้นจากการออกกำลังกายเบาๆ กิจกรรมที่แนะนำคือการออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอ เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง ปั่นจักรยาน ควบคู่กับการฝึกหายใจลึกๆ ช้าๆ และการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การบริหารและยืดกล้ามเนื้อช่วงอกและหลังช่วยลดความตึงเครียดได้ดี
เพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ ควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้หัวใจได้สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ดี และช่วยให้ปอดขยายตัวได้ดีขึ้น5 อย่างไรก็ตาม ควรหยุดออกกำลังกายทันทีหากมีอาการแน่นหน้าอกรุนแรง เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก วิงเวียน หรือคลื่นไส้
ลดความเครียดและจัดการอารมณ์
การลดความเครียดและจัดการอารมณ์เป็นส่วนสำคัญในการดูแลอาการแน่นหน้าอก เนื่องจากความเครียดและอารมณ์ที่ไม่สมดุลสามารถกระตุ้นหรือทำให้อาการแย่ลงได้
ทั้งนี้ความเครียดเป็นตัวการหนึ่งที่เพิ่มโอกาสในการเป็นโรคหัวใจ รวมทั้งโรคแทรกซ้อนอื่นๆ จึงควรพยายามจัดการความเครียดและควบคุมอารมณ์โกรธด้วยวิธีการที่เหมาะสม เช่น ทำงานอดิเรก เลี้ยงสัตว์ อ่านหนังสือ ฝึกทำสมาธิ ฝึกการหายใจ เป็นต้น
การหากิจกรรมที่สร้างความเพลิดเพลิน การพูดคุยกับเพื่อนหรือครอบครัว และการออกไปสัมผัสธรรมชาติล้วนช่วยบรรเทาความตึงเครียดทางจิตใจ ถ้าความเครียดรุนแรงหรือรู้สึกว่าจัดการด้วยตัวเองได้ยาก การปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อเรียนรู้เทคนิคการจัดการอารมณ์เชิงลึกเป็นทางเลือกที่ดี ทั้งนี้ควรสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างภาวะอารมณ์กับอาการแน่นหน้าอก เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจกระตุ้นอาการและจัดการกับอารมณ์ได้อย่างทันท่วงที
สรุป
อาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก เป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะโรคหัวใจ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของหัวใจและปอด โรคในระบบทางเดินอาหาร ปัญหาเกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก การบาดเจ็บ ติดเชื้อ ภาวะเครียดและวิตกกังวล เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีสัญญาณอันตราย ได้แก่ หายใจลำบากหรือหายใจติดขัดแม้จะพักก็ไม่ดีขึ้น ริมฝีปาก ผิวหนัง หรือเล็บเปลี่ยนเป็นสีเขียว รู้สึกเจ็บหรือแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน หรือมีไข้สูง ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษา
อาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกจากโรคหัวใจสามารถดูแลและป้องกันได้โดยการเลือกกินอาหารที่มีสารอาหารบำรุงหัวใจและหลอดเลือด เช่น Allicin จากกระเทียม กรดไขมันกลุ่มโอเมกา 3 ในน้ำมันปลา โคเอนไซม์คิวเทนในส้ม การพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และลดความเครียด