Key Takeaway
|
ไขมันพอกตับเป็นโรคที่คนไทยเป็นกันอันดับต้นๆ เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารพลังงานสูง และผลข้างเคียงจากการใช้ยา จึงต้องศึกษาวิธีดูแลตับ เพื่อให้สุขภาพตับดีขึ้น
ตับ สำคัญยังไง?
ตับ เป็นตัวช่วยสำคัญในการผลิตน้ำดีที่จะย่อยอาหาร และยังช่วยสร้างโปรตีน เป็นแหล่งรวบรวมวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย นอกจากนี้ ตับยังทำหน้าที่ในการกำจัดสารพิษ ยา รวมไปถึงการสร้างภูมิคุ้มเพื่อป้องกันแบคทีเรีย หรือทำให้เลือดแข็งตัวจนสมานแผลให้ดีขึ้นได้1 ดังนั้น การดูแลตับให้ดีก็เหมือนเป็นการดูแลสุขภาพตัวเองในอีกหลายๆ ทางได้ เพราะหากเกิดปัญหา เช่น มีไขมันพอกตับ อาจต้องใช้เวลารักษายาวนานได้
ไขมันพอกตับ คืออะไร?
ไขมันพอกตับ หรือไขมันเกาะตับ เป็นกลุ่มโรคชนิดเดียวกัน อาจเกิดจากการสะสมไขมันไตรกลีเซอไรด์ในตับที่มากจนเกินไป (ประมาณ 5–10%2) ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่แสดงอาการอะไรที่เห็นเด่นชัดจนกว่าจะได้รับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดจึงพบความผิดปกติ นอกจากนี้ ไขมันไตรกลีเซอไรด์ยังเป็นสาเหตุของโรคอื่นๆ ตามมาอีกด้วย
ไขมันพอกตับ มีอาการยังไง?
อาการแรกเริ่มของไขมันพอกตับมักจะไม่ค่อยเห็นเด่นชัด และในหลายๆ คนก็จะมีอาการแตกต่างกันไป เช่น
- คลื่นไส้
- อ่อนเพลีย
- รู้สึกได้ว่ามีความตึงเกิดขึ้นที่ใต้ชายโครงขวา2
และเมื่ออาการรุนแรงขึ้นจะรู้สึกได้ถึงอาการดังนี้
- ร่างกายอ่อนล้า
- ความคิดสับสน
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง
- เป็นดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาขาว)
- ท้องและขาบวมจากการบวมน้ำ
- ในผู้ชายอาจมีหน้าอกที่ใหญ่กว่าปกติ3
- ซึ่งเป็นอาการที่ต้องได้รับการตรวจเพราะอาจส่งผลให้เกิดโรคตับแข็งได้1
_(ไขมัน_พอก_ตับ)_Content.jpg)
ไขมันพอกตับ มีกี่ระยะ?
นอกจากสัญญาณที่ร่างกายแสดงออกข้างต้นแล้ว เมื่อตรวจเจอไขมันพอกตับก็จะเริ่มแสดงอาการเป็น 4 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 ร่างกายยังไม่แสดงอาการอะไรมากเพราะยังไม่เกิดการอักเสบหรือมีพังผืดในตับ แต่เริ่มมีไขมันสะสมอยู่ในเซลล์ตับแล้ว อาจมีอ่อนเพลีย คลื่นไส้ ไขมันพอกตับระยะนี้ตรวจพบได้จากการตรวจสุขภาพ
- ระยะที่ 2 เริ่มมีอาการ แต่ยังไม่ชัดเจนตรวจพบค่าตับจากผลเลือดว่ามีความผิดปกติในระดับที่ตับเริ่มมีการอักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดพังผืดหรือตับอักเสบเรื้อรัง
- ระยะที่ 3 อาการจะชัดเจนเซลล์ตับอักเสบเสียหายจนก่อให้เกิดพังผืดในตับ แต่ยังอยู่ในระยะที่ให้การรักษาเพื่อจะหยุดโรคได้
- ระยะที่ 4 อาการจะรุนแรงขึ้นมากจากตับอักเสบเป็นตับแข็ง และตับไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติแล้ว มีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งตับได้1
จะเห็นได้ว่า ภาวะไขมันพอกตับมักเป็นโรคที่ไม่มีอาการแสดงในระยะแรกๆ ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตัวเองเป็นจนกว่าจะตรวจพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจเลือดเพื่อดูค่าเอนไซม์ตับในเลือด ทำให้ในบางคนกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นไขมันพอกตับโรคก็ลุกลามไปถึงขั้นระยะที่ 3 หรือ 4 แล้ว เพราะฉะนั้น จะดีกว่าไหม? ถ้ารีบดูแลสุขภาพร่างกายตั้งแต่แรกเริ่มและตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้มีโอกาสเสี่ยงเป็นไขมันพอกตับ
ไขมันพอกตับ เกิดจากอะไร?
โดยทั่วไปแล้ว การกินอาหารที่แคลอรีสูงจะเป็นสาเหตุของการเกิดไขมันพอกตับ ซึ่งนำมาสู่อาการดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น รวมไปถึงการดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดไขมันพอกตับ4 และมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การเกิดโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย
ไขมันพอกตับที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (AFLD)
ร่างกายที่ได้รับแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเกินไปในระยะเวลาสั้นๆ อาจปรับตัวไม่ทัน จนกระบวนการเผาผลาญของตับมีปัญหา5 ทำให้ไขมันมีการสะสมและเกาะตัวที่ตับ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะทำให้เป็นตับแข็งได้
ไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (NAFLD)
ไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (NAFLD) เกิดจากการกินอาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาลสูง เป็นประจำ เช่น ชานม เนื้อติดมัน เค้ก ทำให้ตับเผาผลาญไม่ทัน เกิดการสะสมไขมันไว้ที่ตับจนเป็นสาเหตุให้เกิดไขมันพอกตับในที่สุด
นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ยังมีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจตามมาได้อีกด้วย6 ความเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เกิดไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ยังมีอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความดันสูง ต่อมไทรอยด์มีปัญหา การสูดดมควันหรือมลภาวะมากเกินไป เป็นต้น
โรคอื่นๆ ที่มักเจอร่วม เมื่อมีภาวะไขมันพอกตับ
ไขมันพอกตับเป็นโรคที่สามารถเกิดร่วมกับโรคทางกายอื่นๆ ได้ หรือบางครั้งการมีโรคประจำตัวอยู่แล้วก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการของโรคไขมันพอกตับได้เช่นกัน
- โรคตับแข็ง
- โรคมะเร็งตับ
- โรคอ้วน
- โรคเบาหวาน หรือภาวะดื้ออินซูลิน14
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไวรัสตับอักเสบ
- โรคไขมันในเลือดสูง
_(ไขมัน_พอก_ตับ)_Content_copy.jpg)
ใครเสี่ยงที่จะเป็นไขมันพอกตับบ้าง?
ไม่ว่าใครก็มีความเสี่ยงของการเกิดโรคไขมันพอกตับได้ หากดูแลตัวเองหรือกินอาหารที่ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพ เช่น
- ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
- ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย
- สูบบุหรี่จัด หรืออยู่ในที่ที่มีควันมาก
- กินยาที่ไม่จำเป็นมากจนเกินไป กินยามากกว่าที่แพทย์สั่ง หรือหายามากินเอง
- กินอาหารประเภทของหวาน ของมัน ในปริมาณมาก
- มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน13
- ผู้หญิงที่หมดประจำเดือน
- มีภาวะหยุดหายใจตอนหลับ
- ได้รับผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาต้านไวรัส หรือยาเคมีบำบัด20
วิธีกินเพื่อป้องกันภาวะไขมันพอกตับ
วิธีที่จะช่วยดูแลตับเพื่อลดการเกิดปัญหาไขมันพอกตับควรเน้นที่การกินอาหารให้เป็นประโยชน์และการดูแลตัวเอง เช่น
- กินผัก ผลไม้สด ธัญพืช เช่น บรอกโคลี หัวหอม หรือกระเทียม เพราะมีส่วนช่วยในการเร่งกระบวนการกำจัดพิษออกจากตับได้ดี
- กินเนื้อปลา หรือเนื้อที่ไม่ติดมัน
- เลี่ยงการกินอาหารไขมันสูง เช่น เนย นม เค้ก ชีส กะทิ หรือไข่แดง เพราะอาจทำให้เกิดการสะสมของไขมันและนำไปสู่การเกิดไขมันพอกตับได้
- เลี่ยงอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ที่มากเกินไป
- สมุนไพรอย่างชะเอมเทศ หรืออาหารเสริมบางชนิดมีฤทธิ์ช่วยขับพิษออกจากตับได้ อีกทั้งยังช่วยเยียวยาและกระตุ้นการทำงานของตับที่เสียหายด้วย
- เลือกกินไขมันที่ดี เช่น น้ำมันมะกอก หรืออาโวคาโด เพราะมีคุณค่าทางอาหารสูง
- เลี่ยงดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ7
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม2
- เลือกกินอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของสารอาหารบำรุงตับ ไม่ว่าจะเป็น เมล็ดองุ่น บรอกโคลี ชะเอมเทศ เป็นต้น
_(ไขมัน_พอก_ตับ)_Content_copy_2.jpg)
อาหารบำรุงตับ ป้องกันภาวะไขมันพอกตับได้
อาหารที่เป็นประโยชน์กับตับนั้นค่อนข้างเยอะ และยังมีส่วนช่วยในการลดโอกาสเกิดไขมันพอกตับได้อีกด้วย
1. ชะเอมเทศ
ในชะเอมเทศจะมีสารกลุ่มที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และมีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนในการบำรุงตับที่ลดโอกาสเกิดมะเร็ง หรือไขมันพอกตับได้ รวมถึงยังมีฤทธิ์ในการช่วยย่อยอาหารได้ดี ทั้งนี้ การกินชะเอมเทศก็ควรบริโภคในปริมาณที่พอดี เพราะหากกินมากไปจะส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อน พึงระวังว่าอะไรที่มากหรือน้อยเกินไปมักส่งผลเสียได้มากกว่าผลดี
2. บรอกโคลี
ความสำคัญของตับก็คือการช่วยกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย ซึ่งมีความเหมือนกันกับบรอกโคลี ที่มีประโยชน์ในเรื่องของการกำจัดสารพิษออกจากตัวได้8เมื่อกินบรอกโคลีแล้วจึงช่วยบำรุงตับ ทำให้การขับถ่ายทำได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่าบรอกโคลีมีส่วนช่วยในการสลายไขมัน9 ทำให้ไขมันเกาะตับได้น้อยและดีต่อสุขภาพ
3. สารสกัดจากเมล็ดองุ่น
สารสกัดจากเมล็ดองุ่นมีส่วนช่วยในการป้องกันการอักเสบของตับได้ดี การกินเมล็ดองุ่นจึงเป็นวิธีดูแลตับที่ดี ทำให้ตับได้ฟื้นฟูสภาพ10 ระบบร่างกายทำงานได้ดีมากขึ้น สิ่งสำคัญคือช่วยป้องกันความเสี่ยงในการพัฒนาไปสู่มะเร็งตับได้
4. ชาเขียว
การกินชาเขียวเป็นอีกหนึ่งวิธีดูแลตับที่น่าสนใจ เพราะชาเขียวมีส่วนช่วยในการลดความเสี่ยงการเกิดพังผืดในตับได้11 นอกจากนี้สาร EGCG ในชาเขียวยังมีส่วนช่วยเร่งการเผาผลาญไขมันในร่างกายอีกด้วย
5. เนื้อปลา
ปลา เป็นอาหารที่มอบคุณค่าทางโภชนาการให้กับร่างกายได้มากมาย นอกจากจะช่วยบำรุงสมองแล้ว ยังช่วยลดระดับไขมันที่อาจเกาะอยู่ตามตับ จนอาจส่งผลทำให้เกิดอาการที่เป็นสาเหตุของไขมันพอกตับได้ในอนาคต และยังช่วยลดการอักเสบของตับได้ด้วย ควรเลือกกินปลาแซลมอน ปลาทูน่า หรือปลาซาร์ดีน เพราะเป็นปลาประเภทที่มีโอเมกา 3 สูง12 ทำให้ลดความเสี่ยงการเกิดไขมันพอกตับได้
_(ไขมัน_พอก_ตับ)_Content_copy_3.jpg)
รวม 7 เมนูอาหารสำหรับคนเป็นไขมันพอกตับ
คนเป็นไขมันพอกตับควรกินอะไร? มาดูเมนูอาหารสำหรับคนเป็นไขมันพอกตับกัน
1. ข้าวหน้าอกไก่ผักรวม
ข้าวหน้าอกไก่ผักรวมเป็นเมนูสุขภาพที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการจากหลายวัตถุดิบ ดังนี้
- อกไก่ไม่มีหนัง มีโปรตีนคุณภาพสูงแต่ไขมันต่ำ ช่วยซ่อมแซมเซลล์ตับที่เสียหาย
- ผักรวมหลากสี เช่น บรอกโคลีที่มีซัลโฟราเฟน (Sulforaphane) ช่วยขับสารพิษออกจากตับ
- แคร์รอต ที่มีเบต้าแคโรทีนช่วยลดการอักเสบของตับ
- ผักใบเขียว ที่อุดมด้วยคลอโรฟิลล์ช่วยกำจัดสารพิษ
- ข้าวกล้อง ซึ่งมีใยอาหารสูงช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดและลดการสะสมไขมันในตับ
เมนูนี้เหมาะมากสำหรับคนที่อยากลดไขมันพอกตับ เนื่องจากมีไขมันต่ำ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน และสารแอนติออกซิแดนท์ที่ช่วยฟื้นฟูการทำงานของตับและลดการสะสมไขมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. สเต็กแซลมอนใส่หน่อไม้ฝรั่ง
สเต็กแซลมอนใส่หน่อไม้ฝรั่งเป็นเมนูที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ซึ่งประกอบไปด้วยสารอาหารดังนี้
- ปลาแซลมอน เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงและกรดไขมันโอเมกา 3 ที่ช่วยลดการอักเสบและสนับสนุนการทำงานของตับ
- หน่อไม้ฝรั่ง มีสารแอนติออกซิแดนท์และกลูตาไธโอน (Glutathione) ที่ช่วยในกระบวนการดีท็อกซ์ของตับ
- กระเทียมและพริกไทย มีสารต้านการอักเสบและช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ในตับ
- น้ำมันมะกอก ที่ใช้ปรุงอาหารมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวที่ช่วยลดไขมันสะสมในตับ
เมนูนี้จึงเหมาะสำหรับคนที่มีภาวะไขมันพอกตับ เนื่องจากช่วยกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญไขมัน ลดการสะสมไขมันในตับ และส่งเสริมการฟื้นฟูเซลล์ตับที่ได้รับความเสียหาย
3. ซุปหัวผักกาดกับอกไก่
ซุปหัวผักกาดกับอกไก่เป็นเมนูอาหารเพื่อสุขภาพที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์หลากหลาย ประกอบไปด้วย
- หัวผักกาดขาว ซึ่งมีสารกลูโคซิโนเลต (Glucosinolates) ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ในตับ ทำให้การขับสารพิษมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- อกไก่ เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงที่มีไขมันต่ำ ช่วยซ่อมแซมเซลล์ตับที่เสื่อมสภาพและสนับสนุนการฟื้นฟูตับโดยไม่เพิ่มภาระไขมัน
- ขิง มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ
- กระเทียม มีสารประกอบกำมะถันช่วยกระตุ้นการขับสารพิษออกจากตับ
เมนูนี้เลยเหมาะมากกับคนที่มีภาวะไขมันพอกตับ เพราะให้พลังงานต่ำ ช่วยลดการสะสมไขมันในตับ และยังกระตุ้นกระบวนการฟื้นฟูและล้างพิษในตับได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. ข้าวกล้องผัดสมุนไพร
ข้าวกล้องผัดสมุนไพรเป็นเมนูสุขภาพที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ ประกอบไปด้วยสารอาหาร ดังนี้
- ข้าวกล้อง มีใยอาหารสูงช่วยระบบขับถ่ายและควบคุมน้ำตาลในเลือด
- สมุนไพรหลากหลาย เช่น ใบกะเพรา ขิง ข่า ตะไคร้ และกระเทียม ซึ่งมีสารแอนติออกซิแดนท์และสารต้านการอักเสบ โดยเฉพาะใบกะเพราและขิงที่มีสารช่วยกระตุ้นการทำงานของตับและล้างสารพิษ
- น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันรำข้าว มีไขมันดีที่ช่วยสลายไขมันสะสมในตับ
คนที่มีภาวะไขมันพอกตับควรกินเมนูนี้เพราะช่วยลดการสะสมไขมัน เพิ่มการเผาผลาญ และบำรุงตับให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่เพิ่มภาระให้ตับต้องทำงานหนักเกินไป
5. สลัดผักรวมกับน้ำสลัดน้ำมันมะกอก
สลัดผักรวมกับน้ำสลัดน้ำมันมะกอกเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ ดังนี้
- ผักหลากหลายชนิด เช่น ผักกาดหอม คะน้า บรอกโคลี แคร์รอต และมะเขือเทศ ซึ่งอุดมด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารแอนติออกซิแดนท์ที่ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย
- น้ำสลัดน้ำมันมะกอก ประกอบด้วยน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง ช่วยต้านการอักเสบและลดระดับไขมันในเลือด ทำให้ตับทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การกินอาหารแบบนี้เป็นประจำจะช่วยลดไขมันพอกตับ ช่วยบำรุงตับด้วยการกระตุ้นการขจัดสารพิษและลดการสะสมไขมันในตับ จึงเหมาะมากๆ สำหรับคนมีภาวะไขมันพอกตับและต้องการอาหารที่มีไขมันดีเพื่อช่วยฟื้นฟูการทำงานของตับให้กลับมาแข็งแรง
6. เต้าหู้ผัดเห็ดและผักตระกูลกะหล่ำ
เต้าหู้ผัดเห็ดและผักตระกูลกะหล่ำเป็นเมนูอาหารเพื่อสุขภาพที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ โดยเฉพาะสำหรับผู้มีปัญหาไขมันพอกตับ
- เต้าหู้ เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงที่มีไขมันต่ำและช่วยลดคอเลสเตอรอล
- เห็ด มีสารแอนติออกซิแดนท์และกรดอะมิโนที่สนับสนุนกระบวนการขจัดสารพิษในตับ
- ผักตระกูลกะหล่ำ อย่างบรอกโคลีหรือกะหล่ำปลีที่อุดมด้วยสารกลูโคซิโนเลตและซัลโฟราเฟน ซึ่งกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยล้างพิษในตับและลดการอักเสบ
เมนูนี้ยังมีไฟเบอร์สูงซึ่งช่วยในการขับถ่ายและลดการดูดซึมไขมันและน้ำตาล ทำให้เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่มีภาวะไขมันพอกตับ เนื่องจากช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด ฟื้นฟูเซลล์ตับที่เสียหาย และสนับสนุนกระบวนการล้างพิษตามธรรมชาติของร่างกาย
7. ข้าวโอ๊ตกับผลไม้และถั่ว
ข้าวโอ๊ตผสมผลไม้และถั่วเป็นอาหารเช้าที่มีคุณค่าโภชนาการสำหรับการบำรุงตับโดยเฉพาะสำหรับคนที่มีภาวะไขมันพอกตับ เพราะมีสารอาหารดังนี้
- ข้าวโอ๊ต อุดมด้วยใยอาหารละลายน้ำเบต้ากลูแคน (Beta Glucan) ซึ่งช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและควบคุมน้ำตาลในเลือด
- ผลไม้เบอร์รี อย่างบลูเบอร์รีและสตรอเบอร์รีมีสารแอนติออกซิแดนท์สูง ช่วยลดการอักเสบในตับและป้องกันการทำลายเซลล์ตับ
- ถั่วต่างๆ เช่น อัลมอนด์และวอลนัทอุดมด้วยวิตามินอี โอเมกา 3 และกรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพซึ่งช่วยลดการสะสมไขมันในตับ
ทั้งหมดนี้ทำงานร่วมกันเพื่อช่วยในกระบวนการดีท็อกซ์ตับ ลดภาวะอักเสบ และสนับสนุนการฟื้นฟูเซลล์ตับที่เสียหาย ทำให้เป็นตัวเลือกอาหารที่เหมาะสมที่จะลดไขมันพอกตับและปรับปรุงสุขภาพตับอย่างเป็นธรรมชาติ
ดูแลตัวเองยังไงให้ห่างไกลจากไขมันพอกตับ
การดูแลสุขภาพให้ห่างไกลไขมันพอกตับช่วยให้สุขภาพตับดีไปอีกนาน สามารถลดไขมันพอกตับได้ดังนี้15
- ลดแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้ไขมันสะสมในเซลล์ตับมากขึ้น หากตับเกิดการอักเสบเรื้อรังจะทำให้เกิดโรคตับแข็ง และมะเร็งตับได้ในที่สุด
- ลดอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะของทอด เนื้อสัตว์ติดมัน หรือผลิตภัณฑ์จำพวกเนยและผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันสูง เพราะการกินไขมันมากเกินไปจะทำให้ตับทำงานหนักจนทำให้เกิดไขมันสะสมในตับ
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ จิบน้ำบ่อยๆ ตลอดวัน เพื่อช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย
- ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนกิน เพื่อลดสารปนเปื้อนที่อาจเป็นพิษต่อตับ
- ออกกำลังกายอย่างน้อยครั้งละ 30-40 นาที สัปดาห์ละ 4-5 วัน รวม 150 นาทีขึ้นไปต่อสัปดาห์ เพื่อกระตุ้นระบบเผาผลาญ
- ดูแลระบบขับถ่ายให้เป็นปกติ ไม่ปล่อยให้ท้องผูกสะสม
- ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรหากต้องกินยาเป็นประจำ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงต่อตับ
- ตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อติดตามการทำงานของตับ แม้ยังไม่มีอาการแสดงให้เห็น
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยพิจารณาจากค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI)
สูตรคำนวณ BMI คือ น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลัง 2
ตัวอย่าง น้ำหนัก 70 กิโลกรัม ส่วนสูง 175 เซนติเมตร
- BMI = 70 ÷ (1.75 × 1.75)
- BMI = 70 ÷ 3.06
- BMI = 22.87 (อยู่ในเกณฑ์ปกติ)
สรุป
ไขมันพอกตับ เป็นโรคที่ไม่ควรมองข้ามเพราะหากปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่ได้ดูแลสุขภาพอย่างดี ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคตับแข็งหรือโรคมะเร็งตับตามมาได้ สาเหตุของการเกิดโรคไขมันพอกตับ ในช่วงแรกจะยังไม่แสดงอาการมาก อาจอ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดใต้ชายโครงขวา แตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่เมื่ออาการรุนแรงขึ้น หรือมีไขมันเกาะที่ตับมากจนเกิดพังผืด ก็อาจเป็นผลเสียมากกว่านั้นได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดไขมันพอกตับ ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักผลไม้ บรอกโคลี เมล็ดองุ่น เนื้อปลา ชาเขียว หรือสมุนไพรอย่างชะเอมเทศ ก็จะช่วยบำรุงตับได้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงลดการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ก็จะช่วยป้องกันการเกิดโรคไขมันพอกตับ และไม่ก่อให้เกิดโรคอื่นๆ เช่น เบาหวาน ตับแข็ง ความดันโลหิตสูง