Key Takeaway
|
ตอนเช้ากินอะไรดี? อิ่มอร่อย สุขภาพดี ไปกับแซนด์วิชโฮลวีท โยเกิร์ตผลไม้ ข้าวต้มเนื้อสัตว์ไร้มัน และเมนูอื่นๆ พร้อมเคล็ดลับการกินอาหารเช้าให้มีประสิทธิภาพ อิ่มอร่อย ไม่อ้วน
ทำไมอาหารเช้า ถึงสำคัญกับร่างกายของเรา
ความสำคัญของอาหารเช้า มีทั้งในแง่ของการเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ ช่วยเพิ่มระดับน้ำตาล เพื่อให้ร่างกายพร้อมสำหรับการทำกิจกรรมต่างๆ ช่วยให้รู้สึกอิ่มท้องจนกว่าจะถึงมื้อเที่ยง นอกจากนี้ ยังช่วยลดการกินอาหารหนักในมื้อกลางวัน และมื้อเย็น
เนื่องจากมีการศึกษาในเด็กนักศึกษาชั้นปี 1 พบว่า หากนักศึกษาไม่กินอาหารเช้า นักศึกษาส่วนใหญ่จะกินอาหารมื้อกลางวันในปริมาณที่มากขึ้น1
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของอาหารเช้าไม่ได้มีเพียงช่วยให้อิ่มท้องเท่านั้น เพราะถึงแม้ว่าร่างกายจะหลับในเวลากลางคืน แต่ระบบต่างๆ ยังคงมีการทำงานตามปกติ โดยคนที่มีน้ำหนักตัว 50–70 กิโลกรัม จะเผาผลาญพลังงานประมาณ 42 – 95 แคลอรีต่อชั่วโมง หากนอนวันละ 8 ชั่วโมง ร่างกายจะเผาผลาญพลังงานอย่างน้อยที่สุดประมาณ 336 กิโลแคลอรี จึงทำให้มีระดับน้ำตาล และไกลโคเจนลดต่ำเมื่อตื่นนอน
อาหารเช้าเปลี่ยนชีวิตได้อย่างไร
นอกจากอาหารเช้ามีประโยชน์ในด้านการเป็นแหล่งพลังงาน ช่วยให้มีสมาธิ อารมณ์ดี และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มที่แล้ว การกินอาหารเช้าที่มีประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ ยังส่งผลดีต่อสุขภาพด้วย ดังนี้
ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก
มีการวิจัยจากสถาบันการศึกษาระดับนานาชาติหลายแห่ง ยืนยันว่าการกินอาหารมื้อเช้า จะช่วยให้ควบคุมน้ำหนักได้ดีกว่าคนที่อดอาหารมื้อเช้า นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาในผู้หญิงที่กินอาหารเช้าที่มีปริมาณแคลอรีสูงกว่าอาหารมื้ออื่น จะลดน้ำหนักได้ดีกว่าคนที่กินอาหารปกติ และกว่า 78% ประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนัก พร้อมทั้งรักษาน้ำหนักให้คงที่ได้2
ช่วยเติมเต็มสารอาหารพื้นฐานที่ร่างกายต้องการ
อาหารมื้อเช้า ทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานแรกของวัน งานวิจัยพบว่าในกลุ่มคนอเมริกาเหนือมากกว่า 30,000 คนที่ไม่กินอาหารเช้า ร่างกายขาดสารอาหารบางชนิด เช่น แคลเซียม โฟเลต เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี วิตามินดี เป็นต้น3 ดังนั้น หากไม่อยากขาดสารอาหารเหล่านี้ จึงควรกินอาหารเช้าที่มีประโยชน์ ได้สารอาหารครบ 5 หมู่
ช่วยพัฒนาสมอง และช่วยให้ความจำดี
อีกหนึ่งความสำคัญของอาหารเช้าที่ทำให้ทุกคนไม่ควรอดอาหารเช้าเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากอดอาหารเช้าจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และไปเลี้ยงสมองน้อยลง ส่งผลให้เซลล์สมองขาดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สมองเสื่อม4 และมีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์ในอนาคต แต่ในทางตรงกันข้าม หากให้ความสำคัญกับอาหารในมื้อเช้า และกินอาหารเช้าที่มีประโยชน์ จะช่วยให้ระบบสมอง และความทรงจำดีขึ้น
ช่วยให้ร่างกายตื่นตัว อารมณ์ดี และมีสมาธิ
อาหารเช้าที่มีประโยชน์ทำให้รู้สึกอิ่ม หลังจากที่ร่างกายไม่ได้รับอาหารตลอดทั้งคืน นอกจากนี้ อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และวิตามินบี 1 ยังช่วยให้จิตใจสงบ และอารมณ์แจ่มใสขึ้น ทั้งนี้ยังมีส่วนกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนเซโรโทนิน ฮอร์โมนที่ช่วยให้รู้สึกอารมณ์ดี และตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาด้วย4 แต่ในทางกลับกัน หากวิตามินบี 1 ในร่างกายต่ำ จะทำให้รู้สึกเครียดมากขึ้น
ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ
การกินอาหารเช้า นอกจากเสริมให้ร่างกายแข็งแรง และเสริมระบบภูมิคุ้มกันแล้ว ยังช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ลดความอยากกินอาหารปริมาณมาก หรือมีไขมันสูงในมื้อถัดไป ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ทั้งโรคอ้วน โรคเส้นเลือดในสมอง อัลไซเมอร์ โรคนิ่ว และที่สำคัญ ลดโอกาสการเป็นโรคเบาหวานสูงถึง 35 - 50 เปอร์เซ็นต์4
สารอาหารตอนเช้า ควรกินอะไรเพื่อสุขภาพที่ดี
จากความสำคัญของอาหารเช้า จึงทำให้หลายคนจะพยายามกินอาหารเช้ากันทุกวัน แต่ด้วยความเร่งรีบในช่วงเช้า จึงทำให้ส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเภทของอาหาร สุดท้ายแทนที่จะได้ประโยชน์จากการกินอาหารเช้า กลับกลายเป็นโทษมากกว่า เพราะฉะนั้น แนะนำว่าให้เลือกกินอาหารเช้าที่มีประโยชน์ มีค่าพลังงาน 400 - 450 กิโลแคลอรี เป็นอาหารปรุงสุกใหม่ และที่สำคัญ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง
แล้วตอนเช้ากินอะไรดี? ต้องกินสารอาหารพื้นฐานอะไรบ้าง? มาดูกลุ่มอาหารเช้าที่มีประโยชน์มากที่สุด ดังนี้
สารอาหารหลัก (Macronutrients)
Macronutrients คือสารอาหารหลักที่ร่างกายต้องการในปริมาณมาก เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยสารอาหารหลักประกอบด้วย 3 ชนิด ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ซึ่งถือเป็นสารอาหารที่จำเป็น เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ หรือสร้างได้ในปริมาณที่ไม่เพียงพอ
ยกตัวอย่างเช่น โปรตีนให้กรดอะมิโนที่จำเป็น ในขณะที่ไขมันมีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย สารอาหารหลักยังให้พลังงานในรูปแบบของแคลอรี โดยคาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงานหลัก แต่ร่างกายสามารถใช้สารอาหารหลักชนิดอื่นเป็นพลังงานได้หากจำเป็น
ปริมาณแคลอรีของสารอาหารหลักแต่ละชนิด
- คาร์โบไฮเดรต: 4 แคลอรีต่อกรัม
- โปรตีน: 4 แคลอรีต่อกรัม
- ไขมัน: 9 แคลอรีต่อกรัม5
สารอาหารรอง (Micronutrients)
Micronutrients เป็นสารอาหารรอง ประกอบไปด้วยวิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต ระบบภูมิคุ้มกัน การพัฒนาสมอง และการทำงานสำคัญอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ Micronutrients บางชนิดยังช่วยป้องกัน และต่อสู้กับโรคได้อีกด้วย6
- วิตามินที่ละลายในน้ำ: เช่น วิตามินบี และวิตามินซี เป็นต้น ซึ่งร่างกายไม่สามารถเก็บสะสมได้ ต้องได้รับประจำทุกวัน เพราะช่วยให้ร่างกายได้รับพลังงาน เสริมสร้างเซลล์ และเม็ดเลือดแดง แต่ส่วนที่ร่างกายไม่ได้ใช้จะถูกขับออกทางปัสสาวะ
- วิตามินที่ละลายในไขมัน: เช่น วิตามินเอ ดี อี และเค ที่ร่างกายสามารถเก็บสะสมไว้ในเนื้อเยื่อไขมัน และตับ เป็นวิตามินที่สำคัญต่อสุขภาพตา ระบบภูมิคุ้มกัน และการซ่อมแซมบาดแผล
- แร่ธาตุหลัก: เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม และโพแทสเซียม เป็นต้น ซึ่งสำคัญต่อสุขภาพของกล้ามเนื้อ กระดูก และการควบคุมความดันโลหิต
- แร่ธาตุรอง: เช่น เหล็ก แมงกานีส ทองแดง สังกะสี และซีลีเนียม สำคัญต่อสุขภาพของกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และการซ่อมแซมเซลล์7
ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients)
พืชผักผลไม้ที่เรากินกันทุกวันนั้น อุดมไปด้วยสารเคมีธรรมชาติมากมายหลายชนิด ที่เราเรียกว่า Phytonutrients ซึ่งเป็นเหมือนเกราะป้องกันตัวของพืช ช่วยปกป้องพืชจากโรคต่างๆ แมลง และภัยคุกคามอื่นๆ โดยจะพบได้ในกลุ่มผักผลไม้ ตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่ ไลโคปีน (Lycopene) และเควอซิทิน (Quercetin) ซึ่งมีคุณสมบัติและประโยชน์ที่แตกต่างกันดังนี้
- ไลโคปีน (Lycopene) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญในกลุ่มแคโรทีนอยด์ พบมากในผักผลไม้สีแดง โดยเฉพาะมะเขือเทศ ซึ่งการปรุงอาหารด้วยความร้อนจะทำให้ไลโคปีนมีปริมาณสูงขึ้น นอกจากนี้ยัง พบได้ในแตงโมและมะละกอ ซึ่งไลโคปีนช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งปอด รวมถึงช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ
- เควอซิทิน (Quercetin) เป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ พบมากในผักผลไม้หลายชนิด เช่น แอปเปิล หัวหอม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี และใบชา ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและช่วยลดการอักเสบ นอกจากนี้ ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคภูมิแพ้ มะเร็งต่อมลูกหมาก ความดันโลหิตสูง และโรคสมองเสื่อม เป็นต้น
ถึงแม้ว่า Phytonutrients จะไม่ใช่ Micronutrients ที่เป็นสารอาหารรองอย่างวิตามิน หรือแร่ธาตุก็ตาม แต่การกินอาหารที่มี Phytonutrients ก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย ช่วยป้องกันโรคต่างๆ และทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นได้8
Healthy Microbiome
Healthy Microbiome คือ จุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ โดยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน และสุขภาพโดยรวมของร่างกาย ซึ่งจะประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลากหลายชนิด เช่น โพรไบโอติก และพรีไบโอติก9
- โพรไบโอติก คือแบคทีเรียดีที่มีชีวิตอยู่ในร่างกายเรา เมื่อกินโพรไบโอติกเข้าไปในปริมาณที่เพียงพอ ก็จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น ตัวอย่างของโพรไบโอติกที่เราคุ้นเคยกันดี คือ แบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส ที่พบในโยเกิร์ต เคเฟอร์ หรือซาวครีม และแบคทีเรียบิฟิโดแบคทีเรีย ที่พบในโยเกิร์ต และอาหารหมักอื่นๆ นั่นเอง10
- พรีไบโอติก คืออาหารของแบคทีเรียดีอย่างโพรไบโอติก ที่เลี้ยงแบคทีเรียดีในลำไส้ของเรา พรีไบโอติกเป็นเส้นใยชนิดหนึ่งที่ร่างกายเราไม่สามารถย่อยได้ แต่แบคทีเรียดีจะนำไปใช้เป็นอาหารเพื่อเจริญเติบโต ตัวอย่างของพรีไบโอติก ได้แก่ อินูลิน ที่พบในหน่อไม้ฝรั่ง กระเทียม และหอมหัวใหญ่ หรือฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ (FOS) ที่พบในกล้วย รากผักชี และอาร์ติโชค11
อร่อยไม่อ้วน! 7 ไอเดียเมนูอาหารเช้าที่ควรกิน ของคนรักสุขภาพ
อาหารเช้าควรกินอะไรเพื่อสุขภาพ? จะเห็นได้ว่า อาหารเช้ามีประโยชน์ และเป็นมื้อสำคัญที่ขาดไม่ได้ จึงต้องดูแลให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ อุดมไปด้วยโปรตีน ใยอาหาร คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุ แต่ต้องมีปริมาณที่เหมาะสมในมื้อเช้าด้วย คือมีทั้งโปรตีน ผักผลไม้ 5 สี และไขมันดี ใน 1 จาน ตัวอย่างอาหารเช้าง่ายๆ ดังนี้
1. แซนด์วิชขนมปังโฮลวีทไส้เนื้อสัตว์และผักสด
แซนด์วิชขนมปังโฮลวีทไส้เนื้อสัตว์ และผักสด เมนูทำง่าย เหมาะกับมื้อเช้า ครบทั้งคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ไขมันดี ไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุ
2. โยเกิร์ตรสธรรมชาติกับผลไม้สด
อาหารเช้าควรกินอะไรที่ทำง่าย และรวดเร็ว ดังนั้น เมนูโยเกิร์ตเป็นอีกเมนูที่เหมาะมาก เพราะได้ทั้งโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุ แต่ไขมันต่ำ ซึ่งหากกลัวว่าไม่อิ่มให้ไปเน้นที่ปริมาณผลไม้ที่ช่วยให้อิ่มท้อง อย่างกล้วย แอปเปิล มะม่วงสุก หรือธัญพืช
3. ข้าวต้มเนื้อสัตว์ไร้มัน
ข้าวต้มเนื้อสัตว์ไร้มัน เมนูอาหารไทยที่ใครๆ ก็ทำได้ ใช้เวลาไม่นาน แต่ถ้าไม่อยากทำเองก็มีขายในร้านอาหารตามสั่ง แต่แนะนำว่าควรสั่งเป็นข้าวต้มปลา หรือไก่ เพราะเป็นเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อย
4. สลัดผลไม้
สลัดผลไม้ เป็นอาหารเช้าที่ไม่จำเจ เพราะสามารถปรับเปลี่ยนผลไม้ได้ตามฤดูกาล และความชอบส่วนตัว จะใส่โยเกิร์ต กราโนล่า หรือธัญพืชก็อร่อยไปอีกแบบ เป็นเมนูที่ช่วยให้เราได้รับสารอาหารครบถ้วน และสนุกกับการกินอาหารมากขึ้น
5. แพนเค้กมินิแครอท
แพนเค้กแคร์รอตเป็นตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพ เพราะแคร์รอตอุดมไปด้วยวิตามินเอ ซึ่งจำเป็นต่อการมองเห็นที่ดี ผิวพรรณที่สดใส และระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ทำให้แพนเค้กจานนี้เป็นมากกว่าแค่ของอร่อย แต่ยังเป็นการเติมเต็มสารอาหารสำคัญให้กับร่างกายอีกด้วย
6. โจ๊กกล้วยครีมมี่กับราสเบอร์รีบด
เริ่มต้นวันใหม่ด้วยโจ๊กกล้วยราสเบอร์รีเนื้อเนียนนุ่ม ไม่เพียงแต่อร่อยถูกปาก แต่ยังอัดแน่นด้วยคุณค่าทางโภชนาการเพียบ ทั้งวิตามิน แร่ธาตุ ไฟเบอร์ และสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ทำให้อาหารเช้าครบรส ทั้งอร่อย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ อีกทั้งยังทำง่าย และรวดเร็วอีกด้วย
7. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นตัวช่วยที่ดีสำหรับคนไม่มีเวลาจัดเตรียมอาหารเช้า หรือหาอาหารเช้าที่มีประโยชน์กินได้ยาก เพราะมีการคำนวณปริมาณสารอาหารหลัก ที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกายในหนึ่งมื้อมาให้เรียบร้อยแล้ว โดยอาจกินวิตามิน เกลือแร่ แร่ธาตุเสริม และไขมันดี อย่างน้ำมันปลา เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันพื้นฐาน นอกจากนี้ ยังอาจเสริมโปรตีนจากพืช เพื่อลดไขมันสัตว์ได้อีกด้วย
6 เคล็ดลับในการกินอาหารเช้าให้มีประสิทธิภาพ
การกินอาหารเช้าที่มีประโยชน์ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เพราะจากความสำคัญของอาหารเช้าจะเห็นว่า นอกจากจะช่วยให้รู้สึกมีสมาธิ และมีแรงทำกิจกรรมต่างๆ จนถึงอาหารมื้อเที่ยงแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพระยะยาว และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ อีกด้วย แต่สำหรับใครที่ไม่สามารถกินอาหารเช้าได้อย่างที่ใจต้องการ สามารถปรับพฤติกรรมเปลี่ยนง่ายๆ ดังนี้
1. สร้างแรงกระตุ้น หรือเป้าหมายในการกินอาหารเช้า
‘เป้าหมาย’ ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในทุกการกระทำ ไม่เว้นแม้แต่การกินอาหารเช้าที่มีประโยชน์ เพราะหากไม่ตั้งเป้าหมาย หลายคนก็มักจะละเลย และบอกตัวเองว่าไม่เป็นไร พรุ่งนี้ค่อยทำ ดังนั้น หากเห็นความสำคัญของอาหารเช้า อยากได้สุขภาพดี ควรตั้งเป้าหมาย และปรับพฤติกรรม อย่างการตื่นนอนให้เร็วขึ้น เพื่อให้ตื่นทันกินอาหารเช้าทุกวัน เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ และงดเล่นโซเชียลระหว่างกินอาหาร
2. กินอาหารให้สมดุลกับความต้องการของร่างกาย
ปกติแล้วในแต่ละวันร่างกายของผู้หญิงต้องการแคลอรีประมาณ 1,500 - 2,000 แคลอรี ส่วนผู้ชายอยู่ที่ 2,000 - 2,500 แคลอรี จึงแนะนำให้แบ่งปริมาณอาหารให้พอเหมาะ โดยปริมาณอาหารมื้อเช้า ควรอยู่ที่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งนี้ ควรพิจารณาจากกิจกรรมของตัวเอง หากช่วงเช้าทำกิจกรรมหนัก ควรกินอาหารเช้าที่มีประโยชน์ให้มากขึ้น เพื่อให้มีพลังงานเพียงพอต่อความต้องการ และรักษาสมดุลพลังงานของร่างกาย
3. กินอาหารในปริมาณที่เพียงพอ และไม่เร่งรีบ
เหตุผลที่ทำให้หลายคนไม่เห็นความสำคัญของอาหารเช้า คือความเร่งรีบในช่วงเช้า ซึ่งนอกจากจะไม่มีเวลาเลือกอาหารเช้าที่มีประโยชน์ ยังต้องรีบกินอาหาร ทำให้กินอาหารได้น้อย หรือเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด ส่งผลเสียทั้งต่อระบบย่อยอาหาร เพราะฉะนั้น หากมีเวลาจึงไม่ควรเร่งรีบ ยกเว้นเสียแต่ว่าไม่มีเวลาจริงๆ ถึงควรเลือกกินอาหารที่มีพลังงานสูง และมีประโยชน์ต่อร่างกายแทน
4. เน้นกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเสมอ
การเลือกกินอาหารเช้าที่มีประโยชน์ เป็นหัวใจหลักของสุขภาพ ซึ่งใน 1 จาน ควรประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต 1 ส่วน โปรตีน 1 ส่วน และผักหรือผลไม้ 2 ส่วน อย่างไรก็ตาม สำหรับคนรักสุขภาพ และให้ความสำคัญของอาหารเช้า ควรเลือกกินอาหารเช้าที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน โปรตีนไม่ติดมัน และผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง
5. หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีสารปรุงแต่งสูง
อาหารแปรรูป หรืออาหารที่มีการปรุงแต่งสูง อย่างอาหารกระป๋อง ไส้กรอกสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง รวมถึงน้ำอัดลม เค้ก ไอศกรีม พิซซา แม้ว่าจะมีความสะดวก และกินได้ง่ายเหมาะกับมื้อเช้า แต่ก็มาพร้อมปริมาณแคลอรีสูง โซเดียมสูง น้ำตาลสูง และไขมันสูง จึงไม่ควรกินเป็นอาหารมื้อเช้า
6. ประหยัดเวลาด้วยการกินอาหารเสริมโปรตีนสูง
สำหรับคนที่งานยุ่ง ต้องรีบเดินทางไปทำงาน จนไม่สามารถกินอาหารเช้าที่มีประโยชน์ได้ทุกวัน แต่ยังมองเห็นถึงความสำคัญของอาหารเช้าว่าช่วยรักษาสุขภาพได้ แนะนำให้ลองทำเมนูง่ายๆ อย่างแซนด์วิช เมนูไข่ ข้าวต้ม เป็นอาหารเช้า และเสริมสารอาหารให้กับร่างกายด้วยอาหารเสริมโปรตีนสูง ก็จะช่วยให้ได้รับสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
สรุป
จากข้อมูลความสำคัญของอาหารเช้า โดยสรุปแล้ว อาหารเช้าที่มีประโยชน์ เป็นมื้อที่สำคัญสำหรับทุกเพศ ทุกวัย เพราะนอกจากจะช่วยให้รู้สึกมีสมาธิ ตื่นตัว และรักษาสมดุลของอารมณ์แล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงเรื่องโรคเรื้อรัง อย่างโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคเกี่ยวกับสมอง โรคนิ่วอีกด้วย ดังนั้น ทุกคนจึงควรให้ความสำคัญกับอาหารเช้า โดยเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วน และเสริมด้วยอาหารเสริมโปรตีนสูงก็จะช่วยให้สุขภาพดีขึ้นในระยะยาว