สารอาหาร คือ สารเคมีในอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่หรือแร่ธาตุ โดยทั้ง 5 สารนี้ยังแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆ ได้แก่  

  1. สารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย ประกอบไปด้วย โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน

  2. สารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน ประกอบไปด้วยวิตามิน และเกลือแร่

หมู่ที่ 1 โปรตีน 

หมู่ที่ 1 โปรตีน 

สารอาหารหมู่ที่ 1 คือ โปรตีน เป็นสารอาหารที่พบได้จากเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ไข่ รวมถึงพืชตระกูลถั่วต่างๆ เช่น ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วลันเตา โดยโปรตีนเป็นสารอาหารที่ช่วยเสริมภูมิต้านทาน ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ถือเป็นสารอาหารสำคัญที่ร่างกายจะขาดไม่ได้เลย 

ประโยชน์ของโปรตีนช่วงลดน้ำหนัก

โปรตีนเป็นสารอาหารที่ให้พลังงาน อีกทั้งช่วยในเรื่องการเจริญเติบโตและซ่อมแซมกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีประโยชน์หลายด้าน ได้แก่

  • โปรตีนช่วยรักษาสมดุลของน้ำ โดยโปรตีนจะช่วยรักษาปริมาณน้ำในเซลล์ รวมถึงน้ำในหลอดเลือดให้มีปริมาณที่เหมาะสม

  • ช่วยกระตุ้นระบบการเผาผลาญให้สามารถเผาผลาญพลังงานและแคลอรี่ได้ดี

  • ช่วยลดความอยากอาหาร เมื่อทานโปรตีนปริมาณมากขึ้น จะช่วยลดฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin hormone) หรือฮอร์โมนหิว โดยจะเพิ่มฮอร์โมนอิ่มเข้ามา

  • ช่วยลดความรู้สึกอยากทานของหวานในเวลากลางคืน

ควรบริโภคโปรตีนอย่างไรช่วงลดน้ำหนัก8

หลายๆ คนคงเคยได้ยินว่าถ้าอยากลดน้ำหนัก ต้องทานโปรตีนเยอะๆ ซึ่งความจริงแล้วการทานโปรตีนจะต้องทานให้ถูกวิธี ทานในปริมาณที่เหมาะสม ทั้งการทานโปรตีนจากพืชและโปรตีนจากสัตว์ โดยปกติใน 1 วัน ผู้หญิงควรได้รับโปรตีนอยู่ที่ 46 กรัม และผู้ชายควรได้รับโปรตีนอยู่ที่ 56 กรัม ซึ่งอาหารโปรตีนสูงที่ช่วยลดน้ำหนัก ได้แก่

  • ไข่ไก่ เป็นสารอาหารที่ให้โปรตีนได้ดี ไข่ไก่ 1 ฟองจะได้โปรตีน 7 กรัม โดยหากทานแค่ไข่ขาว จะได้โปรตีนถึง 4 กรัม และควรหลีกเลี่ยงไข่แดง เนื่องจากมีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง

  • ถั่วเหลือง เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีโปรตีนสูง เพียงทานถั่วเหลือง 100 กรัมจะได้โปรตีนถึง 34.1 กรัม9 เหมาะกับคนที่ต้องการลดน้ำหนัก เพราะให้พลังงานได้ดีและช่วยให้อิ่มท้องได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีกากใยอาหารมาก ช่วยในการขับถ่าย 

  • เมล็ดเจีย เมล็ดธัญพืชชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กคล้ายเม็ดแมงลัก แค่เพียง 2 ช้อนโต๊ะ จะได้โปรตีนถึง 4 กรัม10 นอกจากนี้ยังมีสารอาหาร วิตามิน แร่ธาตุอีกมากมาย และจากคุณสมบัติพองตัวออกเมื่อถูกแช่ในน้ำ จึงทำให้อิ่มเร็ว และอิ่มนาน อีกทั้งมีเส้นใยอาหารและกรดอัลฟาลีโนเลนิกที่มีส่วนช่วยลดน้ำหนักและไขมันอีกด้วย

หากร่างกายขาดโปรตีนจะส่งผลอย่างไร 

หากขาดโปรตีน ซึ่งถือเป็นสารอาหารหลักที่ช่วยให้พลังงานแก่ร่างกายนั้น จะมีอาการ ดังนี้

  • สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อมีขนาดเล็กลง เนื่องจากร่างกายจะนำโปรตีนที่สะสมไว้ในกล้ามเนื้อลายมาใช้แทน ทำให้กล้ามเนื้อจะเล็กลงไปเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่ขาดโปรตีน

  • มีอาการผิดปกติบริเวณเส้นผม เช่น ผมร่วง ผมบางลงหรือขาดง่ายอย่างเห็นได้ชัด

  • มีอาการผิดปกติบริเวณเล็บมือ หรือเล็บเท้า เช่น  เล็บเปราะ หรือเล็บเป็นคลื่น

  • มีอาการหิวบ่อย เนื่องจากโปรตีนเป็นสารอาหารที่ให้พลังงาน เมื่อขาดแหล่งพลังงาน กลไกของร่างกายจะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกหิว อยากอาหารอยู่ตลอดเวลา

หมู่ที่ 2 คาร์โบไฮเดรต 

หมู่ที่ 2 คาร์โบไฮเดรต 

สารอาหารหมู่ที่ 2 คาร์โบไฮเดรต เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานและความอบอุ่นแก่ร่างกาย อีกทั้งยังเป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานของระบบอวัยวะสำคัญของร่างกาย เช่น สมอง หัวใจ รวมถึงระบบที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจ โดยคาร์โบไฮเดรตประกอบไปด้วย ข้าว น้ำตาล แป้ง เผือก มัน พืชหัวต่างๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ทำจากข้าวหรือแป้ง เช่น มันฝรั่ง ขนมปัง เป็นต้น

ประโยชน์ของคาร์โบไฮเดรตช่วงลดน้ำหนัก

หลายคนที่กำลังลดน้ำหนักอยู่ อาจพยายามเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ซึ่งสามารถทานได้ เพราะคาร์โบไฮเดรตเป็นหนึ่งในสารอาหาร 5 หมู่ที่จำเป็นต่อร่างกายของเรา เพียงแค่ต้องเลือกทานในปริมาณที่เหมาะสม โดยการทานสารอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตนั้น มีประโยชน์ ดังนี้

  • ช่วยให้ระบบเผาผลาญไขมันของร่างกายทำงานได้ตามปกติ

  • ช่วยในการเผาผลาญพลังงาน โดยให้ทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตชนิดดี เพื่อที่จะได้เผาผลาญไขมันส่วนเกินออกไป

  • คาร์โบไฮเดรตช่วยเหนี่ยวรั้งโปรตีนไม่ให้ถูกเผาผลาญเป็นพลังงานไปทั้งหมด เพื่อที่โปรตีนจะได้ไปซ่อมแซมร่างกายในส่วนที่สึกหรอ

ควรบริโภคคาร์โบไฮเดรตอย่างไรช่วงลดน้ำหนัก8

สำหรับผู้ที่กำลังลดน้ำหนักอยู่ควรทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตอย่างน้อย 135-195 กรัมต่อวัน โดยแนะนำให้ทานอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เพื่อให้อิ่มนานขึ้น และร่างกายได้รับใยอาหารที่มีส่วนช่วยในการขับถ่าย ได้แก่

  • ข้าวโอ๊ต (ปริมาณ 100 กรัม จะให้สารอาหารคาร์โบไฮเดรตประมาณ 66 กรัม) ในข้าวโอ๊ตนั้นมีเส้นใยอยู่มาก ช่วยในการลดระดับคอเลสเตอรอล อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจอีกด้วย

  • ข้าวกล้อง (ปริมาณ 100 กรัม จะให้สารอาหารคาร์โบไฮเดรตประมาณ 23 กรัม) แนะนำให้ทานข้าวที่ไม่ได้รับการขัดสีอย่างข้าวกล้องเพราะข้าวกล้องจะอุดมไปด้วยสารอาหารต่างๆ มากมายที่ดีต่อร่างกาย 

  • ถั่วแดง (ปริมาณ 100 กรัม จะให้สารอาหารคาร์โบไฮเดรตประมาณ 61 กรัม) โดยถั่วแดงจะช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอล อีกทั้งยังช่วยเรื่องระบบเผาผลาญให้ร่างกายสามารถเผาผลาญพลังงานได้ดี

หากร่างกายขาดคาร์โบไฮเดรตจะส่งผลอย่างไร

สารอาหารอย่างคาร์โบไฮเดรตนั้น มีคุณสมบัติที่ช่วยในเรื่องของการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย หากร่างกายขาดคาร์โบไฮเดรต มักเกิดอาการผิดปกติ ดังนี้

  • มีกลิ่นปาก ระบบการทำงานของร่างกายจะทำการเผาผลาญไขมันแทน เนื่องจากขาดสารอาหารอย่างคาร์โบไฮเดรต ทำให้เกิดภาวะคีโตซิส (Ketosis) ซึ่งเป็นการปล่อยสารคีโตน (Ketones) ออกมา ทำให้เกิดกลิ่นปาก

  • มีอาการขี้หลงขี้ลืม ระบบสมองของเราจำเป็นต้องได้รับกลูโคสในปริมาณที่เพียงพอ ซึ่งกลูโคสเกิดจากคาร์โบไฮเดรตที่ถูกย่อยสลาย ผู้ที่ขาดคาร์โบไฮเดรตจึงมักจะมีอาการหลงๆ ลืมๆ อยู่ตลอด

  • มีภาวะอารมณ์แปรปรวน เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการผลิตเซโรโทนิน (Serotonin) ในร่างกาย ซึ่งสารเคมีตัวนี้ช่วยทำให้อารมณ์ดี

  • มีอาการท้องผูกบ่อยๆ สารอาหารอย่างคาร์โบไฮเดรตมักอยู่ในอาหารที่มีไฟเบอร์สูง หากงดทานคาร์โบไฮเดรต หรือทานน้อยจนร่างกายขาดสารอาหารคาร์โบไฮเดรต ก็มักจะมีอาหารท้องผูกบ่อยๆ

หมู่ที่ 3 เกลือแร่หรือแร่ธาตุ 

หมู่ที่ 3 เกลือแร่หรือแร่ธาตุ 

สารอาหารหมู่ที่ 3 เกลือแร่หรือแร่ธาตุ เป็นสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน มักพบในกลุ่มพืชผักเป็นหลัก ซึ่งมีทั้งผักใบเขียว ใบผักสีต่างๆ เช่น สีเหลือง สีขาว สีม่วง หรือสีอื่นๆ ซึ่งเกลือแร่จะเข้าไปช่วยให้ระบบในร่างกายทำงานได้ตามปกติ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดปัญหาสุขภาพ โดยเกลือแร่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. เกลือแร่หลักหรือเกลือแร่ที่จำเป็นต้องได้รับในปริมาณที่มากกว่าวันละ 100 มิลลิกรัม ทั้งแคลเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน คลอรีน คลอไรต์

  2. เกลือแร่รอง คือ เกลือแร่ที่ร่างกายต้องการน้อยกว่าวันละ 100 มิลลิกรัม มีทั้งเหล็ก สังกะสี แมงกานิส ทองแดง ซิลีเนียม ไอโอดีน โครเมียม โคบอลท์ ฟลูออไรด์ โมลิบดินัม และวานาเดียม

ประโยชน์ของเกลือแร่หรือแร่ธาตุช่วงลดน้ำหนัก

ในช่วงที่ลดน้ำหนักนั้น สารอาหารประเภทเกลือแร่หรือแร่ธาตุถือเป็นตัวช่วยบำรุงระบบภายในร่างกาย เกลือแร่นั้นอุดมไปด้วยวิตามินที่หลากหลาย มีไฟเบอร์สูง ทำให้เกลือแร่นั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน เช่น

  • ช่วยรักษาสมดุลของน้ำทั้งภายในและภายนอกเซลล์

  • ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแรงของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย

  • แมกนีเซียมที่ได้จากเกลือแร่ เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ร่างกายเผาผลาญกลูโคส ให้กลายเป็นพลังงาน

  • เกลือแร่หรือแร่ธาตุนั้นอุดมอยู่ในผักนานาชนิดที่มีใยอาหารอยู่มาก ช่วยเพิ่มปริมาณของอุจจาระ ทำให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น ลำไส้ทำงานได้ดี

ควรบริโภคเกลือแร่หรือแร่ธาตุอย่างไรช่วงลดน้ำหนัก

ปริมาณสารอาหารเกลือแร่หรือแร่ธาตุที่ควรได้รับนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของเกลือแร่ โดยหากเป็นเกลือแร่หลัก ควรรับประทานอาหารจำพวกที่มีแคลเซียม โพแทสเซียมสูง ได้แก่ ผักใบเขียวต่างๆ ผักบุ้ง ใบยอ ตำลึง เป็นต้น และสำหรับเกลือแร่รอง ควรรับประทานอาหารจำพวกที่มีธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง ได้แก่ โหระพา ผักโขม ผักคะน้า เป็นต้น2

หากร่างกายขาดเกลือแร่หรือแร่ธาตุจะส่งผลอย่างไร

หากร่างกายขาดเกลือแร่หรือแร่ธาตุมักส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติ ดังนี้

  • อาการปากซีด ตัวซีด สามารถสังเกตได้จากสีปาก และสีผิวว่ามีสีซีดลง จนในบางรายอาจเป็นสีขาวซีด3

  • มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก อาจทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เวียนหัวง่าย

  • มีภาวะขาดน้ำ สังเกตได้จากปริมาณปัสสาวะที่น้อยลง จนผิดปกติ

  • อาจเกิดภาวะกระดูกบาง หรือกระดูกพรุน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดแคลเซียม4

  • นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย อาจเกิดจากการขาดแมกนีเซียม ซึ่งแมกนีเซียมมีคุณสมบัติที่ช่วยคลายความเครียด อีกทั้งยังช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายอีกด้วย

หมู่ที่ 4 วิตามิน

หมู่ที่ 4 วิตามิน

สารอาหารหมู่ที่ 4 วิตามิน เป็นสารอาหารที่ไ่ม่ให้พลังงาน ถือเป็นสารอาหารรอง เนื่องจากไม่ได้สร้างพลังงาน แต่วิตามินก็เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อระบบการทำงานของร่างกาย เพราะหากขาดวิตามิน ร่างกายจะไม่สามารถทำงานต่อได้ และมีอาการผิดปกติแสดงออกมา5 โดยวิตามินแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่

  1. วิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามิน A, วิตามิน D, วิตามิน E, วิตามิน K

  2. วิตามินที่ละลายในน้ำ ได้แก่ วิตามิน C  และวิตามิน B รวม

ประโยชน์ของวิตามินในช่วงลดน้ำหนัก

วิตามิน เป็นสารอาหารที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์มากมายที่ช่วยให้บำรุง เสริมสร้างระบบการทำงานในร่างกายของเราให้ดีขึ้น6 สามารถแบ่งประโยชน์ของวิตามินในช่วงลดน้ำหนักได้ ดังนี้

  • วิตามินช่วยในการมองเห็นของดวงตา

  • ช่วยเผาผลาญโปรตีนในร่างกาย ให้เกิดพลังงาน

  • ช่วยบำรุงสุขภาพปาก รวมถึงสุขภาพเหงือกและฟัน

  • ช่วยลดอาการไขมันอุดตันในเลือด ช่วยให้ร่างกายผลิตน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ทำให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น

  • ช่วยดูแลระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายให้ทำงานได้ตามปกติ

ควรบริโภควิตามินอย่างไรช่วงลดน้ำหนัก2

ปริมาณที่เหมาะสมในการทานวิตามินนั้นจะแตกต่างกันออกไปตามชนิดของวิตามิน แนะนำให้ทานวิตามินในปริมาณที่เหมาะสม ดังนี้

  • วิตามิน B1 เช่น เมล็ดทานตะวัน ข้าวซ้อมมือ โดยปริมาณที่แนะนำต่อวันอยู่ที่ 1.5 มิลลิกรัม

  • วิตามิน B2 เช่น ตับ ผักใบเขียว ข้าวโอ๊ต โดยปริมาณที่แนะนำต่อวันอยู่ที่ 1.7 มิลลิกรัม

  • วิตามิน C เช่น มะนาว ส้ม กีวี่ ฝรั่ง โดยปริมาณที่แนะนำต่อวันอยู่ที่ 60 มิลลิกรัม

  • วิตามิน D เช่น ตับ ไข่แดง น้ำมันตับปลา โดยปริมาณที่แนะนำต่อวันอยู่ที่ 60 มิลลิกรัม

หากร่างกายขาดวิตามินจะส่งผลอย่างไร6

วิตามินเป็นสารอาหารที่ช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง ช่วยรักษากลไกการทำงานให้เป็นไปตามปกติ วิตามินมีหลากหลายชนิด โดยแต่ละชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน ทั้งบำรุงสายตา บำรุงเลือด ฯลฯ เมื่อร่างกายขาดวิตามิน มักมีอาการผิดปกติตามมา ดังนี้

  • นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย อาจเกิดจากการขาดวิตามิน B ควรทานอาหารที่มีวิตามิน B6 เนื่องจากวิตามินตัวนี้มีส่วนช่วยสร้างสารเซโรโทนินในสมอง ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น

  • เลือดกำเดาไหลง่าย ไหลบ่อย แต่หยุดไหลช้า เป็นอาการที่เกิดจากการขาดวิตามิน K 

  • ผิวแห้ง ผิวหยาบกร้าน เมื่อลองสัมผัสร่างกายตัวเองแล้วพบว่าผิวหนังมีความแห้ง แตกเป็นขุย หรือผิวหยาบกร้าน ไม่นุ่มเหมือนเดิม อาจเกิดจากการขาดวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น ขาดวิตามิน A วิตามิน E และวิตามิน C 

  • มีอาการตากระตุก อาจเกิดสาเหตุจากการขาดวิตามิน B12

 

หมู่ที่ 5 ไขมัน 

หมู่ที่ 5 ไขมัน 

สารอาหารหมู่ที่ 5 ไขมัน ประกอบไปด้วยอาหารจำพวกเนย ครีม น้ำมันต่างๆ รวมทั้งสามารถพบไขมันได้จากน้ำมันพืช น้ำมันปลา และไขมันสัตว์อีกด้วย ซึ่งการทานอาหารประเภทไขมันจะช่วยสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย แต่หากรับประทานไขมันมากเกินไป ก็จะเกิดไขมันสะสมในร่างกาย เกิดโรคอ้วน และปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา จึงต้องทานไขมันในปริมาณที่เหมาะสม

ประโยชน์ของไขมันช่วงลดน้ำหนัก

ในช่วงที่กำลังลดน้ำหนัก หลายๆ คนคงไม่อยากทานไขมันเลยสักนิดเดียว แต่ไขมันถือเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย โดยมีประโยชน์หลักๆ ได้แก่

  • เป็นตัวนำวิตามิน A, D, E, K เข้าสู่กระแสเลือด เพราะเป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมันเท่านั้น

  • ช่วยให้พลังงาน และให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย

  • ช่วยให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ดีขึ้น

ควรบริโภคไขมันอย่างไรช่วงลดน้ำหนัก8

ในช่วงที่กำลังลดน้ำหนักอยู่ ยังจำเป็นต้องทานอาหาร 5 หมู่ให้ครบถ้วน แต่ควรเลือกทานไขมันที่ดีต่อสุขภาพ และทานในปริมาณที่เหมาะสม ควรเลือกทานอาหารที่มีไขมันดี ได้แก่ ปลาแซลมอน น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกทานตะวัน ถั่วเหลือง เป็นต้น7 โดยปริมาณที่ควรรับประทานไขมันนั้น ให้คำนวณจากพลังงานที่คนเราต้องการอยู่ที่ประมาณ 2,000 แคลอรี่ พลังงานที่ได้รับมาจากไขมันจะอยู่ที่ 20-30% ของพลังงานทั้งหมด8 ซึ่งควรได้รับพลังงานไขมันอยู่ที่ 400-600 แคลอรี่ หรือไขมัน 50-75 กรัมต่อวัน

หากร่างกายขาดไขมันจะส่งผลอย่างไร

ไขมันเป็นหนึ่งในอาหาร 5 หมู่ที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่จะต้องทานไขมันในระดับที่พอดี ซึ่งหากไม่รับประทานไขมันเลย จนร่างกายขาดไขมันจะส่งผล ดังนี้

  • ผิวหนังแห้งกร้าน มีความรู้สึกว่าผิวหนังแห้งมากกว่าปกติ หรือพบว่ามีเศษผิวหนังหลุดลอกออกมา 

  • ขี้หนาว ไขมันช่วยสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย หากพบว่ามีอาการหนาวง่าย รู้สึกหนาวทั้งๆ ที่อากาศร้อนอาจเกิดจากปัญหาร่างกายขาดไขมัน

  • ประจำเดือนมาผิดปกติ เนื่องจากไขมันทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของฮอร์โมน อาจทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติได้

  • สมาธิสั้น เนื่องจากไขมันถือเป็นหนึ่งในสารอาหารที่ให้พลังงานสูง เมื่อร่างกายขาดไขมันจะทำให้มีพลังงานไปหล่อเลี้ยงร่างกายน้อย จะทำให้สมาธิสั้นกว่าผู้ที่ทานอาหาร 5 หมู่ครบถ้วน

สรุป

สารอาหาร 5 หมู่ประกอบไปด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ ซึ่งสารอาหาร 5 หมู่เหล่านี้ล้วนเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หากขาดสารอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งมักมีอาการผิดปกติตามมา ดังนั้น ในช่วงลดน้ำหนัก ก็จำเป็นต้องรับประทานสารอาหาร 5 หมู่ให้ครบถ้วน เพียงแค่รู้จักการจำกัดปริมาณอาหารที่จำเป็น เมื่อรับประทานสารอาหารครบถ้วน อีกทั้งทานอาหารให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอก็จะสามารถลดน้ำหนักควบคู่กับการมีสุขภาพที่ดีได้

ข้อมูลอ้างอิง

  1. MedThai. 16 ประโยชน์ของเกลือแร่ ! (Minerals). MedThai.com. Published 25 Jun 2020. Retrieved 20 Mar 2023.

  2. Admin_ChoiceChecker. วิตามิน แร่ธาตุ แต่ละอย่างควรได้รับปริมาณเท่าไรต่อวัน. Choicechecker.com. Published 13 Sep 2022. Retrieved 20 Mar 2023.

  3. Bumrungrad. เลือกดื่มเกลือแร่ให้เป็น ชดเชยน้ำให้ถูกวิธี. Bumrungrad.com. Published 8 Aug 2019. Retrieved 20 Mar 2023.

  4. Pobpad. หลากวิธีเติมแร่ธาตุ… เพราะร่างกายขาดเกลือแร่ไม่ได้. Pobpad.com. Retrieved 20 Mar 2023.

  5. ภญ. เสาวลักษณ์ ตุรงคราวี. วิตามินและแร่ธาตุคืออะไร?? ทำไมจึงสำคัญ??. Pharmacy.mahidol.ac.th. Published 11 Oct 2017. Retrieved 20 Mar 2023.

  6. Pharm TU. วิตามิน......สารอาหารตัวเล็กๆแต่คุณค่ามหาศาล. Pharm.tu.ac.th. Retrieved 20 Mar 2023.

  7. ธิติรัตน์ สมบูรณ์. กิน “คีโต” อย่างเข้าใจ ลดน้ำหนักได้ สุขภาพดี. Chula.ac.th. Published 16 Mar 2022. Retrieved 20 Mar 2023.

  8. ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์. รู้จักแคลอรี่. Hpc.go.th. Retrieved 20 Mar 2023.

  9. ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นิธิยา รัตนาปนนท์. ถั่วเหลืองอาหารวิเศษ . Foodnetworksolution.com. Retrieved 26 Apr 2023. 

  10. Pobpad. เมล็ดเจีย ประโยชน์ดีต่อสุขภาพ. Pobpad.com. Retrieved 26 Apr 2023. 

shop now